19 มกราคม 2554

ความรักชาติและความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ด้วยสังคหวัตถุ ๔

ความรักชาติและความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ด้วยสังคหวัตถุ ๔

การเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความสามัคคี ปรองดอง ไมตรี ความสุขร่มเย็นของคนในสังคม ไม่ใช่สิ่งที่ส่งมาจากท้องฟ้าหรือมากับสายฝน แต่เป็นสิ่งที่บุคคลในสังคมนั้นๆต้องมีส่วนร่วม ทั้งร่วมทำให้เกิด รักษาให้ดำรงอยู่ ปกป้องไม่ให้ถูกทำลายลงจากผู้ไม่หวังดี และยังต้องทนทาน อดทน และเสียสละให้แก่สังคมด้วย หากสังคมใดมีแต่บุคคลที่มุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน กลุ่มตน คิดแต่จะต้องได้เปรียบผู้อื่น ต้องเป็นผู้ชนะโดยทุกวิถีทางอย่างไร้ปราณี สังคมนั้นก็คงต้องเผชิญกับความทุกข์ ความอยุติธรรม ขาดความเสมอภาค ความร่มเย็นเป็นสุข ขาดซึ่งไมตรี น้ำใจ การแบ่งปัน สังคมนั้นย่อม จะมีแต่ความแตกแยก ร้าวราน ทุกข์ทรมาน และสูญสลายไปในที่สุด
แล้วจะทำอย่างไร วิธีใด ที่จะนำมาซึ่งความสงบสุข สมานฉันท์ ปรองดอง อะไรเล่าที่จะช่วยผลักดันให้คนในสังคมร่วมกันคนละไม้คนละมือสร้างสังคมให้เจริญรุดหน้า แข็งแรง เป็นสุขได้อีกครั้ง

ความดำรงอยู่ของชาติก็ไม่แตกต่างกัน เป็นเพียงสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากการรวมตัวกันของสังคมเล็กๆ จากครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มาเป็นประเทศชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความมุ่งหวังต่อความสงบสุขของบ้านเมือง ต้องเริ่มต้นจากสังคมใกล้ตัว หรืออีกนัยหนึ่ง แรงขับเคลื่อนในการสร้างสังคมที่เป็นสุข หรือสังคมแห่งความสามัคคี มิตรไมตรี ต้องเริ่มจากตัวเรา เป็นอันดับแรก
ในศาสนาพุทธมีหลักธรรมหนึ่ง ที่ช่วยในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม หลักธรรมนั้นคือ สังคหวัตถุ ๔ โดยคำว่า สังคหวัตถุ แปลว่า วิธีสงเคราะห์ อันหมายถึง วิธีปฏิบัติเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่น ให้เกิดความรักใคร่นับถือ เป็นวิธีที่เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในสังคม ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเบื่อหรือรำคาญ หากผู้เขียนจะขอนำเสนอ หลักธรรมในพุทธศาสนาบทนี้ โปรดทนอ่านอีกสักนิด แล้วท่านจะรู้ว่า พุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติของเรานั้น ได้สอนในทุกมิติ อยู่แต่ว่าเราจะหยิบมาใช้หรือไม่เท่านั้น
หลักสังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักธรรมที่ช่วยให้บุคคลอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข ด้วยความรักและผูกพันอย่างดี มี ๔ ประการคือ
๑. ทาน คือการให้ การเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเกื้อกูลกัน การให้ทานเป็นการขจัดกิเลส ขจัดความโลภ ลดความร้อนรนอันเกิดจากการอยากได้อยากมีไม่สิ้นสุดแปลเปลี่ยนเป็นการให้ รู้จักให้ รู้จักการสงเคราะห์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจ ( โดยตัวเราไม่เดือดร้อน ให้โดยเต็มใจ ให้โดยหวังอนุเคราะห์ ให้โดยหวังให้เขาพ้นทุกข์ ) ผู้ได้รับก็เกิดความพึงพอใจ เกิดความรัก เกิดไมตรี โดยการให้ ไม่ได้หมายเฉพาะถึงทรัพย์สิน แต่อาจเป็นการให้ทาน เป็นความรู้ ให้ไมตรี ให้น้ำใจ ให้กำลังใจแก่กัน
๒. ปิยวาจา คือการพูดด้วยคำพูดสุภาพ อ่อนหวาน ติชมอย่างถูกกาลเทศะ เหมาะแก่บุคคล ซึ่งเป็นการใช้คำพูดด้วยถ้อยคำอันเป็นที่รัก เป็นความจริง มีประโยชน์ ผู้ที่ได้รับฟัง เกิดความพึงพอใจ
คำพูดนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ สามารถสร้างมิตร หรือศัตรู สร้างความสำเร็จหรือล้มเหลว
คำพูดเป็นการกระทำของบุคคล ที่ส่อถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา คำพูดที่เอ่ยออกมานั้น ต้องคิดก่อนจึงพูด อันหมายถึง ความเป็นผู้มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว
๓. อัตถจริยา คือการทำตัวให้มีประโยชน์ เป็นที่พึ่งของบุคคลอื่นได้ นอกจากทำตนให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังสอนให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย หลักธรรมข้อนี้ มุ่งให้บุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีคุณค่า
๔. สมานัตตตา การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย เป็นการวางตนให้เหมาะสมกับฐานะในสังคม และปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อบุคคลอื่น ให้ความเสมอภาค และการไม่เอารัดเอาเปรียบ การมองบุคคลอื่นด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้รวมถึง การร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมรับรู้ปัญหาในสังคม และเข้าร่วมแก้ไขปัญหา เป็นการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนในสังคมที่ตนอยู่



หลัก ๔ประการนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในสังคม ผู้ปรารถนาซึ่งความสุขร่มเย็น ย่อมต้องเริ่มจากตัวเองสู่คนใกล้ชิด คนในครอบครัว เมื่อสังคมเล็กหรือครอบครัวมีความสุข รู้หน้าที่รู้ฐานะของตน พูดจาไพเราะเหมาะควร เกี่ยวข้องกันโดยเกื้อกูล มุ่งประโยชน์สุขร่วมกัน รู้จักการให้อภัย เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ สังคมย่อมเกิดสุขด้วยตัวของมันเอง แล้วแผ่ขยายออกสู่สังคมใหญ่ เป็นสังคมของคนร่วมชาติ เมื่อคนในประเทศมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ประเทศนั้นย่อมเกิดความสงบสุข เกิดความสามัคคีไม่เสื่อมคลาย อย่าได้คิดหวังความปรองดอง เรียกร้องความสามัคคีเป็นปึกแผ่นจากสิ่งใด หากไม่เริ่มต้นจากตัวคุณเอง .

ไม่มีความคิดเห็น: