27 มกราคม 2554

คำจำกัดความกิจกรรมการแข่งขันสาระนาฎศิลป์

เนื้อร้องการแข่งขันขับร้องเพลงไทย

ลาวสมเด็จ

แสนจะเปรมปรีดายุภาพาล ได้สมานสมจิตพิสมัย

(สร้อย) เจ้าช่อดอกรัก จะได้สมัคร สมเอย

ได้ครองคู่อยู่ชิดสนิทใจ เหมือนอยู่ในสถานวิมานแมน

(สร้อย) เจ้าพุ่มมาลี ปรียะยินดี ยิ่งเอย

หญิงงามทรามชมภิรมย์ชิด จะปลื้มจิตจ่อสมัครแสน

(สร้อย) เจ้าคู่ภิรมย์ จะได้ชื่นชม กันเอย

ทั้งชายดีศรีสวาสดิ์ไม่ขาดแคลน ก็ถูกแผนควรคู่อยู่ร่วมใจ

(สร้อย) เจ้าคู่ชีวิต จึงควรสนิท จริงเอย

แขกสาหร่าย ๒ ชั้น

อันเพลงไทยใช่จะไร้ในคุณค่า หรือด้อยกว่าเขาอื่นนั้นหาไม่

เพลงของเราก็เสนาะเพราะจับใจ ทั้งยังเป็นสมบัติไทยสืบเนื่องมา

โอ้เจ้าดอกจำปาของข้าเอย สีสวยกระไรเลย กลิ่นหอมชวนเชยนาสา

ตามสายพระพายพัดมา หอมกลิ่นจำปา ไม่แพ้บุบผาของใครเอย

เรามีชาติถ้าขาดวัฒนธรรม สิ่งประจำสำหรับชาติเสียแล้วหนา

ใช่ว่าไทยจะอยู่ได้ในโลกา อย่าลืมคิดพิจารณาดูให้ดี

อันชาติไทยต้องไม่กลายไปเป็นอื่น ไทยต้องยั่งยืน ไทยต้องชมชื่นนิยมไทย

ร่วมชีวิตร่วมจิตใจ ร่วมกันใช้ของไทย อย่าเห็นของใครดีกว่าเอย ฯ

(นายถนอม นาควัชระ แต่ง)

จระเข้หางยาว ๓ ชั้น ทางสักวา

สักวาเถรขวาดผู้อาจหาญ โอมอ่านอาคมคาถา

พอจบบทโดดลงในคงคา กายากลายเป็นกุมภาพาล

สมเอยสมปอง แผลงฤทธิ์ลำพองคะนองมา

ร่างกายของกุมภา ใหญ่มหันต์น่าพรั่นเอย ฯ

ลอยล่องท้องน้ำแล้วดำด้น ขบพิฆาตผู้คนทุกสถาน

ชาวเรือพรั่นตัวกลัวลาน ลือสะท้านถึงอยุธยาเอย

หัวแว้งหางเหวี่ยง เสียงเปรี้ยงเปรี้ยงพิลึกลั่น

ปรีดิ์เปรมจิตเหมหรรษ์ คำรามร้องกึกก้องมาฯ

(นายมนตรี ตราโมท แต่ง)

เนื้อร้องการแข่งขันวงดนตรีไทย

แขกต่อยหม้อ (เถา)

ดำเนินพลางทางมองทุกช่องฉาก ล้วนแลหลากลวดลายระบายเขียน

กนกแนมแกมมาศดาษเดียร ผนังเนียนทาสีมีลายทอง

ติดกระจกเงางามอยู่ตามที่ มีมู่ลี่บังไว้มิให้หมอง

ไขวิสูตรสองบานพุดตานกรอง มีพู่ทองห้อยประจำล้วนคำพราย

เพดานมาศประหลาดแพร้ว ระย้าแก้วแพรวเฉิดฉาย

ฉลุลวดประกวดลาย โคมแขวนรายอยู่พรายตา ฯ

(เสภาเรื่องอาบูหะซัน)

เขมรพวง (เถา)

เจ้างามปลอดยอดรักของพลายแก้ว ได้มาแล้วแม่อย่าผลักให้กลับหนี

พี่ยอมตายไม่เสียดายแก่ชีวี (หนาน้องรักของพี่นี้เอย หนาน้องเอย)

แก้วพี่อย่าเพ่อพร่ำรำพันความ

พี่ผิดพี่ก็มาลุแก่โทษ จงคลายโกรธแม่อย่าถือว่าหยาบหยาม

พี่ชมโฉมโลมลูบด้วยใจงาม ทรามสวาทดิ้นไปไม่ใยดี

รอยเล็บพี่ยังเจ็บด้วยหยิกต้อง ขัดข้องเพราะเจ้าปัดสลัดพี่

ค้อนควักผลักพลิกแล้วหยิกตี ถ้อยทีถูกข่วนแต่ล้วนเล็บฯ

(เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน)

นกเขาขะแมร์ (เถา)

พิศดูหมู่วิหคผกผิน โบกบินร่อนร้องก้องขรม

นกแก้วสาลิกาน่าชม เสียงระงมพลอดเพรียกเรียกกัน

นกเขาเคล้าคู่ชูคอ จับตอต้นตาลขานขัน

เรียกคู่กู่พร้องก้องอรัญ ผลัดกันไซ้ขนต้นคอ

บนกิ่งกะทกรกนกเอี้ยง ส่งเสียงเฉาะฉอดจอดจ้อ

จับคู่ผู้เมียเคลียคลอ แก้วปร๋อบินปรู่สุ่พนานต์

สาลิกาจับกาหลงร้อง เพราะพร้องจำเรียงเสียงหวาน

สำเนียงน่าฟังกังวาน ฟังซ่านซาบใจใฝ่จินต์

กะลุมพูจับพุ่มกะลุมพู พาคู่เคียงโผนผกผิน

กะลิงจับกิ่งจันทร์กิน แล้วบินโบยสู่อันพร ฯ

(นายมนตรี ตราโมท แต่ง)

ขอมทรงเครื่อง (เถา)

คิดแล้วจึงสั่งนักคุ้ม เจ้าจงอยู่ควบคุมทัพใหญ่

ตัวกูจะปลอมแปลงไป กระทั่งสุโขทัยธานินทร์

จะแต่งกายให้เหมือนคนไทย เล็ดลอดดอดไปสมถวิล

ลี้ลับเหมือนกับกูดำดิน คงจะได้เสร็จสิ้นดังจินดา

แล้วจึงจัดแจงแต่งกาย ให้ละม้ายแม้นไทยเช่นว่า

เลือกสรรอาวุธศาสตรา ซ่อนในกายาเรียบร้อย

มุ่นเกล้าเมาฬีวิธีใหม่ เหมือนอย่างแบบไทยใช้สอย

จึงรีบเลี้ยวลดสกดรอย ไต่ต้อยติดตามพระร่วงไป ฯ

(พระร่วง พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖)

แขกบรเทศ (เถา)

นี่อะไรตกใจไปเปล่าเปล่า นิจจาเจ้าช่างไม่เชื่อน้ำใจผัว

กระโดดขึ้นหลังม้าเถิดอย่ากลัว ประคองตัววันทองย่องเหยียบโกลน

นางหวั่นหวั่นพลั่นม้าไม่ขึ้นได้ ขุนแผนกดสีหมอกไว้มิให้โผน

ม้าดี ฝีเท้าไม่ก้าวโจน นางกลัวตัวโอนเข้าแนบชิด

สองมือกอดผัวจนตัวแนบ ขุนแผนพริ้มยิ้มหยอกศอกสกิต

เบือนหน้าว่าเจ้าเข้าให้ชิด ขอจูบนิดหนึ่งแล้วจะรีบไป ฯ

(เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน)

เพลงจีนขิมเล็ก เถา

(3 ชั้น) ขึ้นบนเหลาแลอร่ามตามอัคคี รัศมีส่องสว่างกระจ่างส่อง

ภาพที่ฉากปักไว้ด้วยไหมทอง โตคะนองหงส์ฟ้อนมังกรทะยาน

นางบำเรอเสนอร้องทำนองหวน ขับครวญขิมคลอซอประสาน

พวกขันทีคอยขยับรับใช้งาน น่าสราญรมย์รื่นชื่นวิญญา

(2 ชั้น) ที่ระเบียงเรียงแขวนด้วยโคมราย แสงฉายเฉิดแอร่มแจ่มจ้า

ตู้กระจกโหลเรียงเลี้ยงปลา ก่อภูผาน้อยน้อยน่าพึงชม

(ชั้นเดียว) พระพายโบยโชยกลิ่นผกากรุ่น หอมละมุนละไมฟุ้งจรุงโฉม

ที่เลือกล้วนชวนอารมณ์สำเริงรื่น สราญเอย

หมายเหตุฯ เนื้อเพลงทั้งหมดนี้เป็นเนื้อกลาง ส่วนคำร้องของแต่ละเพลงที่ปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับทางร้องของแต่ละทางครูที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

คำจำกัดความกิจกรรมการแข่งขันสาระนาฎศิลป์

๑. ระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงระบำที่เป็นมาตรฐานของการแต่งกาย ท่ารำ และเพลง ซึ่งผู้แสดงจะต้องแต่งกายยืนเครื่องพระ นาง เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ระบำกฤษดาภินิหาร รำแม่บท ระบำสี่บท

ระบำดาวดึงส์ ระบำเทพบันเทิง เป็นต้น

๒. นาฏศิลป์ไทยอนุรักษ์ หมายถึง การแสดงที่ปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้คิดประดิษฐ์ท่ารำ ดนตรี การแต่งกายและได้รับการยอมรับ เป็นการการแสดงรำหรือระบำเบ็ดเตล็ด ที่ไม่เกี่ยวกับการฟ้อน เซิ้ง หรือการแสดงที่เกี่ยวกับพื้นเมืองของแต่ละภาค ตัวอย่างเช่น ระบำโบราณคดี รำสีนวล รำอวยพร ระบำนพรัตน์ ระบำไก่ ระบำม้า ระบำนกยูง ฯลฯ เป็นต้น

๓. นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ หมายถึง การแสดงที่นอกเหนือจากไทยอนุรักษ์เป็นชุดการแสดงที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ทั้งท่ารำ ดนตรี การแต่งกาย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงพื้นเมือง ซึ่งแต่เดิมเราใช้ชื่อการแข่งขันว่า นาฏศิลป์ไทยประยุกต์

๔. นาฏศิลป์พื้นเมืองอนุรักษ์ หมายถึง การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองของแต่ละภูมิภาคที่มีปรมาจารย์ได้คิดประดิษฐ์ไว้ ได้รับการเผยแพร่ และเป็นที่ยอมรับแล้ว ตัวอย่างเช่น ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม เซิ้งกระติ๊บ เซิ้งโปงลาง ระบำนารีศรีอีสาน ระบำร่อนแร่ รองเง็ง ระบำเถิดเทิง

ระบำเกี่ยวข้าว เต้นกำรำเคียว เป็นต้น

๕. นาฏศิลป์พื้นเมืองสร้างสรรค์ หมายถึง การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองของแต่ละภูมิภาคที่มีการคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: