27 มกราคม 2554

การสะท้อนสภาพชีวิตและสังคมของผู้ชายที่กลายเป็นหญิง : กรณีศึกษาบทเพลงของ เจิน เจิน บุญสูงเนินจากเพลง

การสะท้อนสภาพชีวิตและสังคมของผู้ชายที่กลายเป็นหญิงจากเพลง

: กรณีศึกษาบทเพลงของ เจิน เจิน บุญสูงเนิน

บรรเทิง ทีฆาวงค์ *

บทนำ

บทเพลง คือ ผลงานที่ผู้ประพันธ์สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสละสลวย สอดคล้องตามจินตนาการ ความรู้สึก ความใฝ่ฝันของผู้ประพันธ์ เนื้อหาสาระของเพลงกลั่นกรองจากความคิดที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคม ผู้ประพันธ์ต้องการถ่ายทอดให้ผู้ฟังรับทราบในรูปของการพูด ภาษาเขียนที่ไพเราะ โดยนำมาประกอบเข้าไปกับดนตรี อันเป็นภาษาที่มีท่วงทำนอง จังหวะ และเสียงสูงต่ำ ดนตรีและเพลงจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

เพลงไทยมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่เพลงพื้นบ้าน จนกระทั่งถึงเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ หรือจากเพลงไทยเดิมจนกระทั่งถึงเพลงลูกกรุง ก่อนปี ๒๔๗๕ เพลงไทยแบ่งกว้างๆเป็น เพลงไทยเดิมและเพลงพื้นบ้าน แต่หลัง ๒๔๗๕ เกิดเพลงไทยประเภทที่สาม คือ เพลงไทยสากล แนวเนื้อหาของเพลงไทยสากลในยุคแรก ช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ เป็นกลุ่มเพลงปลุกใจ เพลงรัก และเพลงชีวิต คือ เพลงที่หยิบยกเอารายละเอียดของคนในอาชีพต่าง ๆ มาพรรณนาด้วย คำร้องเรียบง่าย แต่กินใจ สะท้อนสภาพสังคม และเสียดสีการเมืองบ้าง ต่อมาหลัง ๒๕๐๐ ได้แบ่งเพลงไทยสากลออกเป็น เพลงลูกกรุงกับลูกทุ่ง จนกระทั่งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีเพลงประเภทที่สาม คือเพลงเพื่อชีวิต การแบ่งแบบนี้ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ในด้านเนื้อหาของเพลงก็มีหลากหลาย เช่น ตลกขบขัน รักหวานชื่น หัวอกขื่นขม สองแง่สามง่าม เสียดสีสังคม เป็นต้น

เพลงมีบทบาทและหน้าที่ของเพลงต่อสังคมหลายประการด้วยกัน คือ

. ทำหน้าที่เป็นเสมือนกับตัวแทนของระบบสัญลักษณ์ในทางสังคม

. ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางกายภาพ

. เป็นเสมือนเครื่องควบคุมและคอยรักษาบรรทัดฐานทางสังคม

. มีบทบาทในการรักษาสถาบันที่สำคัญทางสังคม

. ทำให้เกิดความสืบเนื่องและความมั่นคงทางวัฒนธรรม

บทเพลงและดนตรีจะเกิดขึ้นในส่วนใดของโลกก็จะได้รับการดัดแปลงให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมของคนในเชื้อชาตินั้น ๆ เพลงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในแง่จิตใจและสังคมแล้ว เพลงยังรับใช้มนุษย์ในแง่เศรษฐกิจและการเมืองด้วย

เพลงมีคุณค่าในตัวของมันเอง และได้สะท้อนสภาพต่าง ๆ ดังนี้ ประการแรก ความรู้สึก

นึกคิดของบุคคล การบรรยายความในใจโลกทัศน์ มโนทัศน์ในด้านต่าง ๆ และการให้ความหมายของคำ ประการที่สองเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เช่น ค่านิยม ความเป็นอยู่ อาชีพ สัญลักษณ์ในการติดต่อสื่อสาร จะเห็นได้ว่าบทเพลงมีบทบาทและคุณค่ามากมาย นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว บทเพลงยังให้คุณค่าหรือสะท้อนสิ่งต่าง ๆ มากมายเหมือนกัน

ผู้เขียนบทความเลือกเอาบทเพลงของ คุณเจิน เจิน บุญสูงเนิน มาวิเคราะห์ สำหรับขอบเขตในการศึกษา คือ บทเพลงจำนวน ๓ ชุด (ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง, ผีเสื้อราตรี, ข้าคือคนไทย) และมุ่งวิเคราะห์วิจารณ์โดยไม่เกี่ยวข้องกับศาสตร์และศิลป์ทางดนตรี อีกทั้งเห็นว่าเป็นบทเพลงที่น่าสนใจและยังไม่เคยมีผู้ใดศึกษาแนวเพลงแบบนี้มาก่อน ซึ่งเป็นแนวเพลงแบบใหม่ หรือ แนวใหม่ โดยเพลงมีลักษณะคาบเกี่ยวกันระหว่างเพลงไทยลูกทุ่งและเพลงไทยสากล แต่ถ้าจะจัดให้เป็นประเภท น่าอยู่ในแนวเพลงแบบลูกกรุงหรือแนวเพลงแบบใหม่ที่สะท้อนสภาพชีวิตและความจริงในสังคมที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้

ในการศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาเนื้อหาของเพลงแบบองค์รวม เพื่อที่จะนำมาจัดประเภทของเนื้อเพลงตามประเด็นของเนื้อหา และมุ่งศึกษาการสะท้อนสภาพสังคมและชีวิตของผู้ขับร้อง ตลอดจนกลวิธีการใช้ภาษาสัญลักษณ์ที่ปรากฏ อีกทั้งจะต้องนำเอาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเช่นแนวคิดเรื่องศิลปินเพลงและบทเพลง ทฤษฎีจิตวิทยา และแนวคิดกลวิธีการใช้ภาษาสัญลักษณ์มาอธิบายร่วมกับความคิดของผู้วิจัยด้วย

ประวัติศิลปินเพลงโดยสังเขป

ถ้ากล่าวถึงราชินีนักร้องสาวประเภทสองที่มีบทเพลงออกสู่สังคมและโด่งดังที่สุดในประเทศไทย เกือบทุกคนต้องนึกถึง เจิน เจิน บุญสูงเนิน เพราะเธอได้ฝากเสียงเพลงและสร้างสีสันให้กับสังคมมากพอสมควร ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างก็ให้การยอมรับในความสามารถของเธอ เพราะเธอได้ไปแสดงผลงานเพลงที่ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

เจิน เจิน มี ชื่อจริง ว่า นายประเชิญ บุญสูงเนิน ชื่อเล่น เจิ๋น เจิ๋น แต่ที่เป็น เจิน เจินเพราะแขกชาวต่างชาติตั้งให้เมื่อครั้งที่ไปร้องเพลงในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ชีวิตของเธอเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา และกว่าที่เธอจะมาเป็นเจิน เจิน ได้ทุกวันนี้ชีวิตเธอต้องประสบปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย เพราะเธอกำพร้าแม่ตั้งแต่เด็ก พ่อก็เป็นอัมพาต มีแต่น้องสาว (นิตยา บุญสูงเนิน) และมีพี่ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวยากจน ถึงขั้นที่ว่า ครั้งหนึ่งเคยเก็บของกินในกองขยะ และเวลาไปโรงเรียนก็ไม่มีรองเท้าที่จะสวมใส่

เมื่อเธอจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยแล้ว ในที่สุดเธอก็เลือกศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะที่ศึกษาอยู่เธอก็ทำงานไปด้วย คือ ร้องเพลงตามร้านอาหารหลาย ๆ แห่งในยามราตรี เพื่อเป็นทุนในการส่งเสียตัวเอง เจินเจินเป็นบุคคลหนึ่งที่รู้ตัวมาตั้งแต่จำความได้แล้วว่าเธอไม่อยากเป็นผู้ชาย ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ และเลือกเดินทางชีวิตด้วยตัวของเธอเอง และเดินไปได้ไกลจนสุดทางนั้นนับเป็นความสุขใจส่วนตัวที่หลายคนมิอาจเข้าใจได้ว่าทำไม เธอตระเวนไปร้องเพลงตามสถานบันเทิงต่าง ๆ มา ๑๐ กว่าปีแล้วและเมื่อเธอไปประกวดร้องเพลง เธอก็ได้รับตำแหน่งนักร้องดีเด่นของสยามกลการปี ๒๕๒๗ ปีเดียวกับ

ธงไชย แมคอินไตย์ และความฝันอันสูงสุดที่อยากจะออกเทป ก็เริ่มสว่างไสวขึ้น ในที่สุดเธอก็ได้เป็นศิลปินของบริษัทเลปโส้ โดยเกิดจากความคิดของคุณวิศาล เลาแก้วหนู ที่ต้องการนำเสนอ

แนวเพลงชีวิต ที่พูดถึงความจริงในสังคมที่ทุกคนมิอาจปฏิเสธ มีศิลปินลักษณะพิเศษ โดยที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ออกอัลบั้มชุดแรกคือ ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ชุดที่สอง ผีเสื้อราตรี และชุดที่สาม ข้าคือคนไทย เมื่อล่าสุดนี้ (ธันวาคม ๒๕๔๓) เธอมีอัลบั้มพิเศษออกร่วมกับศิลปินท่านอื่น ๆ เป็นเพลงประกอบละคร ที่ปลายฝันนั้นเพื่อเธอ ซึ่งเนื้อหาของเพลงบางส่วนก็สะท้อนสภาพชีวิตและสังคมของเธอได้เหมือนกัน

ประเภทของเพลงตามประเด็นของเนื้อหา

. บทเพลงพรรณนาเกี่ยวกับอารมณ์รัก

.๑ อารมณ์รักแบบคนที่มีความรัก

จะพบในเพลง สัญญาสาบาน ที่ว่า “…สัญญา สาบาน ให้ตะวันท่านเป็นพยานรักเรา มอบชีวิตให้เธอดูแล รักแท้ไปจนวันสิ้นใจ…” เป็นเพลงที่กล่าวถึงการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ว่าจะรักกันตลอดไป โดยให้พระอาทิตย์เป็นพยานแห่งความรัก และจะไม่ให้ประวัติศาสตร์ของความรักที่ผิดหวังซ้ำรอยอีก จะเห็นได้ว่าถึงแม้เธอจะเกิดมาเป็นสาวประเภทสอง แต่เหนือสิ่งอื่นใดเธอก็ต้องการความรักของเธอให้เป็นเหมือนกับความรักชาย-หญิงปกติทั่วไป นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเพลงแบบนี้ปรากฏในเพลงอื่น ๆ อีกเช่น ในเพลง ความรักชะช่า

.๒ อารมณ์รักที่มีต่อสถาบันสูงสุด

ปรากฏอยู่หนึ่งเพลง คือ ข้าคือคนไทย ที่ว่า ข้าคือคนไทย ไม่เคยลืมชาติพันธุ์ จะอยู่ที่ใด จะตายที่ใด วิญญาณ ก็เป็นคนไทย จะอยู่ที่ใด จะตายที่ใด วิญญาณฉันก็เป็นคนไทยโดยเนื้อเพลงกล่าวว่าจะไม่ลืมชาติพันธุ์ของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะตายที่ใดก็ตาม ทั้งชีวิต และวิญญาณก็ยังคือคนไทยเหมือนเดิม เพราะว่าผืนแผ่นดินไทยมีคุณต่อเรามาก อีกทั้งยังมีคำสอนในพระพุทธศาสนาช่วยอบรมสั่งสอนซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนได้รับสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษแล้ว

เพลง ข้าคือคนไทยเป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันสูงสุดที่คนไทยควรให้ความเคารพ และทางช่อง ๙ อ....ก็ได้นำบทเพลงนี้เปิดเมื่อตอนจะปิดสถานีทุก ๆ วัน ถือได้ว่าเพลงนี้ได้ทำหน้าที่ของเพลงในข้อหนึ่งที่ว่า รักษาสถาบันที่สำคัญทางสังคม

จากเพลงนี้ก็ได้สะท้อนความเป็นตัวของผู้ขับร้องได้เช่นกัน กล่าวคือ ถึงแม้เธอจะเกิดมาเป็นสาวประเภทสอง สังคมไม่ค่อยจะให้การยอบรับก็ตาม แต่ถึงอย่างไรเธอก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่พร้อมจะสู้ทนอยู่ในสังคมได้เหมือนกับคนอื่นๆ เป็นการเรียกร้อง วิงวอนผ่านบทเพลง ให้สังคมเห็นอกเห็นใจเพศที่สามเพิ่มมากขึ้น มิใช่เรียกร้องเพียงเพื่อตัวเธอเองเท่านั้น แต่นั่นเป็นการเรียกร้องแทนเพศที่สามทุกๆ คน

. อารมณ์ที่สะเทือนใจ

โดยส่วนใหญ่แล้วบทเพลงก็จะกล่าวถึงอารมณ์สะเทือนใจเมื่อผิดหวังจากความรัก, อารมณ์สะเทือนใจที่เกิดมาเป็นเพศที่สาม เพราะเป็นชีวิตที่ลำบาก เต็มไปด้วยการต่อสู้ ดังนั้นเลยวิงวอนให้สังคมเห็นใจ อีกทั้งแนวเพลงก็จะกล่าวเป็นแนวปลุกใจ ให้ต่อสู้ไป ไม่ให้ยอมแพ้ต่อชีวิต เพื่อที่จะได้มีชีวิตในวันต่อไปที่สดใสและดีกว่า เช่น ในเพลงฉันให้เธอไม่ได้ที่ว่า

ให้เธอไม่ได้ ให้เธอไม่ได้ ชาตินี้ฉันก็คงให้เธอไม่ได้ แล้วน้ำตา ฉันก็ต้องเช็ดหัวเข่า เมื่อถูกเขาทอดทิ้ง ช้ำใจยิ่งนัก ยอมทุ่มเททุกสิ่งที่เธอเอ่ยปาก ควักหัวใจให้เธอก็ยอม ให้ได้ฉันจะให้ ซื้อได้ฉันจะซื้อ ซื้อหัวใจให้เธอ….คืน ขอสิ่งอื่นทดแทนได้ไหม สายเลือดของเรา ลูกที่เธอต้องการ ไม่มีวัน (ไม่มีวัน) ที่เป็นไปได้ (ที่เป็นไปได้) ไม่มีวัน ชาตินี้ฉันคงให้เธอไม่ได้ ชาตินี้คง ให้เธอไม่ได้ ชาตินี้ฉันก็คงให้เธอไม่ได้

จากเพลงนี้ก็สะท้อนให้เห็นความจริงและความเป็นไปไม่ได้ของสาวประเภทสอง ที่ว่า อย่างไรก็ตามชาตินี้ ชีวิตนี้ ไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าหากเธอและคนรักของเธอต้องการ เธอสามารถหามาให้ได้ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่หามาให้ไม่ได้นั่นก็คือ ลูก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความรันทดอดสูของสาวประเภทสองทุกๆ คนที่ต้องประสบ จากตรงนี้ทำให้มีผลสืบเนื่องต่อไปอีกคือ ทำให้ไม่มีผู้ชายคนไหนที่จะมีความรักที่จริงใจให้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสะเทือนใจที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีเพลงที่มีเนื้อหาในแนวนี้ปรากฏในเพลงอื่นๆอีกเช่น เพลงต่อไปนี้ เรื่องในใจมีใครรู้, แฟนฉันหนีไป, แก้วนี้เพื่อเธอ, ไม่อยากคิด, เพลงรถไฟ, จริงใช่ไหม, เพลงสุดท้าย, ครั้งหนึ่งของฉัน, มีเธอมีฉันมี

. บทเพลงเล่าเรื่อง

เนื้อหาเพลงส่วนใหญ่เกือบทุก ๆ เพลง ถ้านำเอาเนื้อหามารวม ๆ กันแล้ว ก็จะเป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตของ เจิน เจิน บุญสูงเนินทั้งหมด

.๑ สะท้อนความจริงของชีวิต เจิน เจิน และสาวประเภทสองโดยปรากฏในหลาย ๆ เพลง เช่น

เพลง ฉันให้เธอไม่ได้ที่ว่า “…สายเลือดของเรา ลูกที่เธอต้องการ ไม่มีวันที่เป็นไปได้ …”กล่าวคือถึงแม้เธอจะมีคนรัก มีรักที่สมบูรณ์แบบ อย่างชายหญิงทั่วไป และถึงแม้คู่รักของเธอจะต้องการสิ่งใด เธอก็สามารถหามาให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นอยู่สิ่งเดียวนั้นคือ การมีลูกและนี่ก็เป็นความจริงของสาวประเภทสองทุๆคนที่มิอาจปฏิเสธได้

เพลง แฟนฉันหนีไป เพลงนี้ก็สะท้อนชีวิตจริง เจิน เจิน ที่ว่าในอดีต เจิน เจิน เคยมีคนรักด้วยกันทั้งหมด ๔ คน แต่ในที่สุด คนรักก็จากไป ไม่มีใครจริงใจต่อเธอสักคน และเพลง ๆ นี้ก็สะท้อนความจริงของเธอได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่สะท้อนความจริงของตัวเธออีก เช่น ในเพลง พระจันทร์เสี้ยว, ดาวตลกในโลกกลมๆ, นางฟ้าจำแลง เป็นต้น

.๒ สะท้อนการประกอบอาชีพ

ดังที่ปรากฏในเพลง ผีเสื้อราตรี ที่ว่า

ในมุมๆ หนึ่ง ยามราตรี ผีเสื้อปีกสวยโบยบินเป็นหมู่ แพรวพราวสีสันของอาภรณ์ล้อแสงไฟส่อง สร้างความเรืองรองให้กับคืนนี้ เก็บกดอารมณ์ ลงไปในความมืดดำ น้ำตาเจ้ากรรมไหลปรี่ มีใครเข้าใจไหม ฉันต้องแกล้งทำเป็นยั่วยวน ยั่วยวน….(ยั่วยวน) เหวี่ยง เหวี่ยง เหวี่ยง ออกไปซะ เป็นอะไรก็ช่างมัน เป็นอะไรก็ช่างตัวฉัน นี่คือ….อาชีพของฉัน…”

จากบทเพลงเป็นการกล่าวถึง อาชีพที่เธอประกอบอยู่ เช่น การแสดงคาบาเร่ การร้องเพลงตามแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ล้วนเป็นอาชีพที่ต้องทำในยามราตรี ทั้งสิ้น อาชีพที่ทำนี้บางครั้งอาจทำด้วยความจำยอมเพราะนั่นเป็นเหมือนกับการแสดงละครฉากหนึ่งที่จะต้องเสแสร้งแกล้งทำ และจะต้องทน เพราะอย่างไรก็ตามนั่นมันก็คืออาชีพ อาชีพที่จะทำให้มีชีวิตดำรงอยู่ในสังคมต่อไปได้

. บทเพลงสะท้อนสังคม

. สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนในสังคม

ค่านิยม ( Values ) หมายถึง ทัศนคติพิเศษ ซึ่งเป็นทัศนคติขั้นพื้นฐานที่เป็นตัวนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติต่างๆ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่กลุ่มสังคมหนึ่ง ๆ เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การกระทำ น่ากระทำ น่ายกย่องหรือเห็นว่าถูกต้อง ค่านิยมที่ปรากฏในเพลงของ เจิน เจิน มีดังนี้

. เพลงสะท้อนค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องความรักแบบคู่รัก (ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น)

. เพลงสะท้อนค่านิยมเรื่องความรักถิ่นฐาน/รักชาติ เช่น ในเพลง ข้าคือคนไทย

. ค่านิยมเกี่ยวกับการดื่มสุรา ในสังคมไทยของเราค่านิยมในข้อนี้ถือว่าเด่นมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ หรือโศกเศร้า ก็มักจะมีการดื่มสุราเพื่อเฉลิมฉลอง เพื่อให้ลืมอะไรบางสิ่งบางอย่าง เช่น ที่ปรากฏในเนื้อเพลงต่อไปนี้ น้ำเทวดา ที่ว่า

“…สุรานิยมสะสมกันทั่วไทย ใส่ตู้ใส่ไหเก็บไว้ตามข้างฝา ดูทันสมัยอวดใครไม่ขายหน้า ดื่มแบล็คดีกว่า ชีวาสก็น่าจะโอเค…”

นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นอีกเช่นดื่มดื่มอีกแก้ว, แก้วนี้เพื่อเธอ, เพลงเซ็ง เป็นต้น

จากบทเพลงตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของสังคมได้ โดยเป็นความจริงที่มิอาจมีใครปฏิเสธได้อีกเช่นกัน

. สิ่งที่สะท้อน เพศที่สามมองสังคมและสังคมมองเพศที่สาม

การเป็นสาวประเภทสองหรือเพศที่สามเป็นชีวิตที่ลำบาก และเป็นการเหยียบเข้าสังคมที่ผิด ซึ่งเธอก็ไม่ปรารถนาที่จะเป็นแบบนั้น โดยเนื้อเพลงก็พยายามถ่ายทอดออกมาเพื่อต้องการให้สังคมยอมรับและเห็นใจ ซึ่งตามหลักจิตวิทยาของฟรอยด์แล้ว น่าจะเป็นการปลดปล่อยความเก็บกดออกมาจากจิตใต้สำนึก โดยพยายามให้สังคมรับรู้ว่า ฉันก็เหมือนคนอื่นทั่ว ๆ ไป เกิดมาอย่างนี้มันผิดตรงไหน จะต่างก็เพียงร่างกายเท่านั้น แต่ในด้านจิตใจแล้วก็เหมือน ๆ กัน เป็นการตัดพ้อต่อว่าสังคมว่าทำไมสังคมไม่เข้าใจกันบ้าง โดยเพศที่สามมองสังคมว่า สังคมไม่ค่อยให้การยอมรับ ในทางกลับกันสังคมก็มองเพศที่สาม แบบไม่ยอมรับความสามารถของเพศที่สามเลย เพราะฉะนั้นเพศที่สามจึงพยายามเน้นย้ำว่าให้สังคมรับรู้ว่า ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เช่น ที่ปรากฏในเนื้อเพลง ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ดังนี้

ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง…..ฉันก็เป็นผู้หญิง…..ฉันก็เป็นผู้หญิง เป็นฉัน….มันผิดตรงไหน ชีวิตฉันใครกำกับ เป็นฉัน….ใครจะยอมรับ บทบาทให้ความสำคัญ ต่างกัน….แค่เพียงร่างกาย แต่ใจเราก็เหมือนเหมือนกัน ฉันก็เป็น….ผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันมีชีวิตจิตใจ ทำไมไม่เข้าใจกันบ้าง มีทุกข์มีสุขผิดหวัง ไม่ต่างอะไรกับคนอื่น ถึงฉันจะเป็นอย่างนี้ ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน ฉันสู้ฉันทนดิ้นรน ไม่ขอใครกิน ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง

อีกทั้งเธอยังหวังและต้องการให้สังคมยอมรับในความเป็นตัวของตัวเธอให้ได้ และอาจจะเป็นไปได้ว่าเธอต้องการให้ตัวเธอมีอะไรเหมือนบุคคลอื่นๆในสังคม เช่น อาจจะต้องการมีลูก ต้องการเป็นผู้หญิงจริงๆที่ไม่ใช่สาวประเภทสอง ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่ที่พอจะมีหนทางเป็นไปได้ก็คือ ทำให้สังคมยอมรับในความสามารถของเธอเท่านั้น ดังปรากฏในเพลง พระจันทร์เสี้ยว ที่ว่า “…หวังว่าสักวัน พระจันทร์เสี้ยวที่แลเห็น ต้องเป็นจันทร์ที่เต็มดวง

นอกจากนี้ตามความคิดของมาสโลว์ ได้จำแนกความต้องการของมนุษย์เราออกเป็น ๗ ประการ และในเพลงส่วนใหญ่ก็ล้วนปรากฏความต้องการเหล่านั้นเหมือนกัน เช่น ความต้องการทางกาย, ความต้องการความรัก และความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม, ความต้องการมีเกียรติและศักดิ์ศรี ต้องการมีความรู้ ความเข้าใจ เป็นต้น

. สะท้อนให้เห็นถึงการนำเอาความจริงของคนในสังคมมากล่าว

เป็นธรรมดาของมนุษย์เราทุกคนที่ต้องการมีชีวิตในอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน เช่น ในเพลง พรุ่งนี้ต้องดีกว่า ที่ว่า ทุก ๆ คนอยากมีชีวิตที่ดีกว่า แทบทุกเรือนหลังคา ปัญหาร้อยแปดพันเก้า ไอ้ที่มันลงตัวจะมีสักกี่ครอบครัว บ้างก็อาจจะหัวมงกุฎ ท้ายมังกร…” จากเพลงนี้ก็แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราทุกคนล้วนต้องการให้สภาพชีวิตของตนเองดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และนั่นก็เป็นความจริงของสังคมที่ไม่อาจมีใครปฏิเสธได้

.๔ บทเพลงล้อเลียนสังคม

บทเพลงที่นำเอาความจริงมาเสียดสีสังคม เช่น ในเพลง ผัวข้าใครอย่าแตะ โดยกล่าวว่าถ้าใครมีสามีลักษณะเช่นไรก็จะทำให้ภรรยาพลอยได้รับผลการกระทำของสามีในลักษณะนั้น ๆ ไปด้วย อีกทั้งยังให้ข้อคิดแก่หญิงไทยด้วยว่าก่อนที่จะแต่งงาน ต้องคิดให้รอบคอบเพราะถ้าไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วอาจเกิดปัญหาตามมาก็ได้ ตัวอย่างเช่น

“ …มีผัวนักร้องต้องร้องเป็นสาม สี่ ห้า มีผัวเล่นม้าก็ต้องกินหญ้าแทนข้าว มีผัวชาวนาหน้าตาคงดำเป็นเงา…”

อีกทั้งในเพลง เมียจ๋าจงเจริญ กล่าวว่า ผู้ชายที่ต้องการมีภรรยา หลังจากที่มีแล้วก็ต้องดูแล เลี้ยงดูให้ดี ไม่ควรจะทำร้ายร่างกายภรรยา ดังที่ว่า “ …ตบตีเมียเหมือนเต่าล้านปี สุภาพบุรุษที่ดีต้องกลัวเมีย เขาว่ามองเสียสวย แม้เหล้าไม่มีทั้งวันก็ยังเมา เลี้ยงเมียจนอ้วนเอาอ้วนเอา แทบไม่ต้องนับเนื้อ ยิ่งเลี้ยงเมีย เมียก็ยิ่งดุ ดุไม่ว่าตายช้าอีกต่างหาก คิดให้นักถ้าอยากมีเมีย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของคนในสังคมไทยทั้งชายและหญิง ที่ทุกคนมิอาจปฏิเสธได้

. บทเพลงปลุกใจ ให้กำลังใจ

ส่วนแนวเพลงที่เป็นแนวปลุกใจ ให้กำลังใจ ให้อดทนต่อสู้ไปโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เป็นที่ทราบกันดีว่า ชีวิตของเจินเจิน เป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้กับหลายสิ่งหลายอย่าง และเป็นชีวิตที่สะเทือนใจ ประการแรก ต่อสู้กับความยากจน เพราะแต่เดิมครอบครัวเธอยากจนมาก

(ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) เธอก็ต้องขยันอดทนเพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่นเพลงต่อไปนี้ ต้องสู้จึงจะชนะ, เธอต้องอดทน, เถ้าแก่, ยิ้มสู้, พรุ่งนี้ต้องดีกว่า , ชีวิตฉัน ชีวิตเดียวเป็นต้น

อีกประการหนึ่ง เธอต้องอดทนและต่อสู้กับการฝืนกฎธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่ นั่นคือ การไม่อยากเป็นผู้ชาย ก็เลยตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิง เมื่อเป็นหญิงแล้ว ก็ยังเป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์แบบอยู่ดี ไม่สามารถมีลูกได้ ปรากฏอยู่ในเพลง ฉันให้เธอไม่ได้ อีกทั้งเวลามีคนรัก คนรักก็จากไป ไม่มีใครจริงใจต่อตัวเธอเลย ดังที่สะท้อนในบทเพลง แฟนฉันหนีไป ดังนั้นเพลงจึงสะท้อนความเป็นจริงของตัวเธอ และวิงวอนให้สังคมยอมรับ ให้สังคมเห็นใจ ถึงแม้จะเกิดมาเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เป็นการเหยียบเข้าสังคมที่ผิด ซึ่งตัวเธอก็ไม่ปรารถนาเลย ทั้งนี้เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทนและสู้ต่อไปเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต เนื้อหาเหล่านี้ปรากฏในบทเพลง เช่น ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง, เรื่องในใจมีใครรู้, พระจันทร์เสี้ยว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าบทเพลงเหล่านี้มิได้เป็นตัวแทนของเจิน เจิน แต่เพียงผู้เดียวเดียว แต่บทเพลงเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแทนของสาวประเภทสองหรือเพศที่สามทุกๆคน ที่ต้องการเรียกร้องหรือต้องการแสดงให้เห็นถึงการรวมเป็นกลุ่มของเพศเดียวกัน เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันด้วย

กลวิธี ( Technique )การใช้ภาษาสัญลักษณ์

พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึง เทคนิคหรือกลวิธีว่าเป็นชั้นเชิงหรือฝีมือของผู้แต่งที่จะถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และจินตนาการอย่างมีศิลปะ ส่วนกุหลาบ มัลลิกะมาส กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เทคนิคหรือกลวิธีซึ่งผู้แต่งนำไปใช้ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์สะเทือนใจ เป็นการแสดงชั้นเชิงว่าผู้แต่งมีฝีมือมากเพียงใด ซึ่งการใช้กลวิธีก็มีหลายประการ ประการหนึ่งที่นิยมมาใช้ในการแต่งเพลงก็คือกลวิธีการใช้ภาษาสัญลักษณ์ หรือสิ่งแทน โดยการใช้ภาษาสัญลักษณ์ในบทเพลง ผู้แต่งก็ต้องพยายามสรรหาคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับตัวศิลปิน โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า ภาษานั้นสะท้อนอะไรบางอย่างในตัวศิลปินได้

ภาษาสัญลักษณ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มี ๒ อย่างด้วยกันคือ Sign และ Symbol ทั้งสองต่างก็เป็นสัญลักษณ์สิ่งแทนด้วยกันทั้งสิ้น แต่ต่างกันที่ Sign เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสิ่งที่แน่นอนตายตัว ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เป็นความจริง ไม่เกี่ยวข้องกับจิตใจและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ส่วน Symbol เป็นสัญลักษณ์สิ่งแทนที่เป็นนามธรรม ไม่เจาะจงตายตัว ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

จากบทเพลงของ เจิน เจิน ทั้ง ๓ ชุด พบว่ามีกลวิธีการใช้ภาษาสัญลักษณ์เหมือนกัน สัญลักษณ์ส่วนใหญ่เป็นแบบ Symbol และสัญลักษณ์เหล่านั้นก็มีความสัมพันธ์และสะท้อนความเป็นตัวเธอด้วย โดยปรากฏภาษาสัญลักษณ์ ดังต่อไปนี้

เพลง ผีเสื้อราตรี กล่าวถึงอาชีพของคนกลางคืน ที่ต้องเสแสร้งแกล้งยั่วยวน จนบางครั้งอาจจะดูฝืนใจบ้าง แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นอาชีพ จากบทเพลงนี้มีการใช้ภาษาสัญลักษณ์คือคำว่า ผีเสื้อราตรี แทนอาชีพของคนกลางคืน เป็นที่ทราบกันดีว่า อาชีพของเจิน เจิน ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่จะต้องทำตอนกลางคืน คือ ไปร้องเพลงตามร้านอาหารและสถานบันเทิงต่างๆ หรือแม้แต่การไปแสดงคาบาเร่โชว์อีก ซึ่งอาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นอาชีพที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนในยามราตรีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ผู้แต่งเพลงจึงเลือกเอาคำสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเจิน เจิน และเพศที่สาม มาเป็นตัวสะท้อนความจริง จากตรงนี้ก็จะทำให้เราทราบอีกว่า ผู้แต่งมีความสามารถในการสรรคำเพื่อให้เกิดความงามในบทเพลงได้

เพลง ดาวตลกในโลกกลมๆ บทเพลงนี้ใช้ภาษาสัญลักษณ์คือคำว่า ดาวตลก แทนสภาพชีวิตหรืออาชีพของเจิน เจิน และเนื้อหากล่าวในเชิงเปรียบเทียบว่า ถึงแม้ชีวิตดาวตลกเป็นอาชีพที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คนได้ก็ตาม แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังชีวิตอาจมีเรื่องทุกข์ใจ หรือ

ไม่สบายใจ ซึ่งอาจจะเหมือนกับชีวิตของเจิน เจิน ก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความจริงของสังคมด้วยว่า ชีวิตคนเราไม่มีสิ่งใดแน่นอน เวียนว่ายตายเกิด แต่ที่อยู่ในสังคมนี้ล้วนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออำนาจของเงินตรา ซึ่งโดยปกติแล้ว สาวประเภทสองส่วนใหญ่ จะคิดว่าไม่มีใครรักตนจริง ไม่มีอะไรสามารถให้ความสุขได้มากเท่ากับเงินตรา ในบางคนถึงขั้นที่ว่า การมีเงินเท่านั้นที่จะสามารถดำรงอยู่ในสังคมนี้ได้

เพลง นางฟ้าจำแลง ใช้ภาษาสัญลักษณ์คือคำว่า นางฟ้าจำแลง นั่นคือ สาวประเภทสอง เช่น ตอนหนึ่งของบทเพลงกล่าวว่า ตัดแต่งเติมให้เหมือนให้เป็น เป็นยอดหญิงเพื่อเธอเท่านั้นจากตรงนี้สะท้อนให้เห็นความสามารถของผู้แต่งเพลงได้ชัดเจนมาก เพราะเป็นการใช้ภาษาสัญลักษณ์ที่เหมาะสมกับบริบทและสามารถสะท้อนความจริงของผูขับร้องได้แล้ว ในบทเพลงยังมีการใช้คำที่กระชับ แต่สามารถสะท้อนได้ชัดเจน เช่น ตัด แต่ง เติม ให้เหมือนให้เป็นสามคำนี้สะท้อนให้เห็นความจริงของเพศที่สามว่า กว่าที่จะมาเป็นผู้หญิงได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างมากมาย โดยผ่านการตัดเติมเสริมแต่ง เพื่อทำให้ใกล้เคียงหรือเหมือนผู้หญิงให้มากที่สุด

ในปัจจุบันนี้ คำว่า นางฟ้าจำแลง ก็นำไปใช้ทั่วไปจนเป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึง สาวประเภทสอง เช่น วันนี้จะมีการประกวดธิดานางฟ้าจำแลง นั่นก็หมายความว่า จะมีการประกวดสาวประเภทสอง นั่นเอง

นอกจากนี้ผู้แต่งเพลงยังรู้จักใช้คำสัญลักษณ์ที่มีการเปรียบด้วย เช่น เปรียบพระจันทร์เสี้ยวเป็นสาวประเภทสอง ปรากฏเพลง พระจันทร์เสี้ยว ใช้คำว่า พระจันทร์เสี้ยว แทนการเป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะคำว่า เสี้ยวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ หน้าที่ ๘๕๕ ให้ความหมายไว้ว่า ส่วน ๑ ใน ๔ , ส่วนย่อย , . เฉ ไม่ตรง ถ้าจะเปรียบกับชีวิตของเจิน เจิน ก็คือ ถึงแม้เธอจะผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แต่ก็ยังเป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์แบบอยู่ดี เป็นพระจันทร์ที่สวยเด่น แต่ถึงอย่างไรก็เป็นจันทร์ที่ไม่เต็มดวง นั่นคือ หมายถึง การที่เธอไม่สามารถมีลูกเหมือนกับผู้หญิงทั่วๆไปได้ และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป

เพลง เหมยฮัว ถึงแม้เพลงนี้จะเป็นเนื้อร้องภาษาจีนก็ตาม แต่เมื่อแปลออกมาแล้ว ดอกเหมยฮัว อาจเป็นสิ่งแทนตัวเจิน เจิน ก็เป็นได้ เพราะเนื้อร้องที่แปลแล้ว ท่อนหนึ่งบอกว่า “ …ยิ่งหนาวเย็น เจ้าก็ยิ่งสะพรั่ง ชูช่ออย่างงามสง่า ถึงแม้จะมีลมฝน หิมะหรือน้ำแข็ง แต่ก็ไม่เคยหวั่นสะทกสะท้าน ซึ่งนั่นอาจหมายถึง ชีวิตเจิน เจิน ก็เป็นได้ ถึงแม้บางครั้งเธอต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง แต่เธอก็ไม่ท้อ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เธอสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นต่อไปได้ ในที่สุดเธอก็สามารถทำตามที่เธอต้องการได้ เปรียบการต่อสู้ และความอดทนของเธอเหมือนกับ ดอกเหมยฮัว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศไต้หวัน ที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ ดังที่กล่าวมาแล้ว

นั่นเอง

นอกจากนี้ยังปรากฏคำสัญลักษณ์อื่นๆอีก เช่น ในเพลง น้ำเทวดา นั่นก็หมายถึง สุรา หรือแม้แต่ชื่อเพลงที่บอกว่า ฉันให้เธอไม่ได้ ชื่อเพลงก็จะกล่าวเป็นนัยประหวัดให้ทราบว่าสิ่งที่เธอไม่สามารถมีให้กับคนรักเธอได้นั้นคืออะไร และนั่นก็คือ ลูก นั่นเอง

จากตัวอย่างข้างต้น ก็พอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า มีการใช้คำสัญลักษณ์มากมาย ถึงแม้ศิลปินผู้ขับร้องจะไม้ได้แต่งเพลงเองก็ตามแต่นั่นก็เป็นความสามารถของผู้แต่งเพลงที่ที่รู้จักเลือกสรรคำที่สะท้อนความเป็นตัวของผู้ขับร้องได้ เพราะก่อนที่จะแต่งเนื้อร้องได้ ผู้แต่งเพลงจะต้องเพ่งพิศตัวของศิลปินผู้ขับร้องนานมากพอสมควร เพื่อที่จะหาลักษณะเด่นที่ปรากฏแล้วนำลักษณะเด่นนั้นมาเรียบเรียงเป็นภาษาที่มีสัมผัส เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพลงจะสะท้อนอะไรบางอย่างของศิลปินผู้ขับร้องได้

เหตุผลที่ใช้คำเหล่านี้ผู้วิจัยคิดว่าเนื่องมาจากเหตุผลสองประการ ประการแรก เพราะคำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเป็นเพศที่สาม เช่นคำว่า นางฟ้าจำแลง , พระจันทร์เสี้ยว เป็นต้น ประการที่สอง เพราะคำเหล่านั้นเป็นคำที่ใช้เปรียบกับผู้หญิง ใช้แทนผู้หญิง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเพศที่สามคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิงและต้องการให้ตัวเองเป็นผู้หญิงให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นคำเหล่านั้นก็ต้องเป็นคำสัญลักษณ์ที่ใช้แทนผู้หญิงด้วย ครั้นจะใช้คำศัพท์ที่แสดงความเป็นผู้ชายก็คงจะไม่ได้ เพราะเพศที่สามไม่เคยคิดอยากที่จะเป็นผู้ชาย คำศัพท์ที่ใช้แทนความเป็นผู้หญิงที่ปรากฏในบทเพลง เช่น ผีเสื้อ นางฟ้า ดอกไม้ (เหมยฮัว ) เป็นต้น จากตรงนี้ก็คงต้องยกความดีเด่นให้กับผู้แต่งเพลงที่รู้จักเลือกสรรคำที่สะท้อนความเป็นหญิง ตลอดจนชี้ให้เห็นลักษณะพิเศษของบทเพลงเหล่านั้นด้วย

นอกจากนี้การใช้ภาษาสัญลักษณ์ เป็นกลวิธีของผู้แต่งเพลงที่ต้องการให้ภาษาเพลงมีความงามทางด้านวรรณศิลป์ เพราะคำสัญลักษณ์เหล่านั้นมีความหมายที่ลึกซึ้ง แฝงอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้คำสัญลักษณ์ในบทเพลงยังทำให้ผู้ฟังเพลงเกิดมุมมองใหม่ ๆ เกิดทัศนคติ เพราะเป็นคำที่ต้องคิดและตีความด้วยวิจารณญาณ

ความหมายของสัญลักษณ์นั้นความจริงในตัวของมันเองมีขอบเขตอยู่แล้ว เช่น ในแต่ละคำจะมีความหมายที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ตัวมนุษย์เป็นผู้ใส่ความหมายลงไปในทางดีหรือไม่ดี

และเพิ่มเติมความหมายต่าง ๆ เข้าไป ซึ่งผิดไปจากความหมายเดิมแต่ก็เป็นที่เข้าใจกันดี การที่มนุษย์ได้เพิ่มเติมความหมายเข้าไปนี้เอง ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคตามสมัย ตามสภาพแวดล้อม เมื่อเวลาผ่านไปก็จะถูกลืมเลือนไปเอง

จากที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วในข้างต้นว่า ลักษณะเพลงของเจินเจินเป็นเพลงแนวใหม่ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ผู้วิจัยพยายามค้นหาว่าเพลงนั้นพิเศษกว่าศิลปินเพลงท่านอื่นๆ

อย่างไร เมื่อศึกษาแล้วพอจะประมวลออกมาได้ดังนี้

ลักษณะพิเศษของเพลง

ประการแรก พิเศษในด้านตัวผู้ขับร้อง แน่นอนที่สุด ผู้ขับร้องย่อมพิเศษกว่าใครอื่น เพราะเธอไม่ใช่ผู้ชายและก็ไม่ใช่ผู้หญิงด้วย แต่เธอเป็นเพศที่สาม นอกจากนี้ลักษณะพิเศษที่พบในตัวของผู้ขับร้องอีกประการหนึ่ง คือ ความสารถพิเศษเฉพาะตัวในการขับร้องเพลงได้ถึง ๗ ภาษา ทั้งๆที่เธอก็เป็นคนไทยโดยกำเนิด หาเป็นลูกครึ่งไม่ เช่นที่ปรากฏอยู่หนึ่งเพลงคือ เพลง เหมยฮัว เป็นเนื้อเพลงภาษาจีน และที่กล่าวว่าเธอสามารถร้องเพลงได้ถึง ๗ ภาษานั้น นั่นคือ ไทย จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี มาเลย์ และสิงคโปร์ ซึ่งเพลงภาษาเหล่านี้ โอกาสที่เธอจะได้ขับร้องก็ต่อเมื่อในโอกาสพิเศษหรือตามความต้องการของแขกในร้านอาหาร เท่านั้น

ประการที่สอง พิเศษในด้านแนวเพลง กล่าวคือ ไม่สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้ว่า อยู่ในประเภทไหน เพราะแนวเพลงมีลักษณะคาบเกี่ยวกันระหว่างเพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล และเพลงเพื่อชีวิต หากจะจัดให้เป็นประเภทที่แน่นอนตายตัวนั้นคงทำไม่ได้ แต่ถ้าจะจัดประเภทก็คงเป็นเพลงแนวใหม่หรือเพลงพิเศษที่สะท้อนสภาพชีวิตและสังคม

ประการที่สาม พิเศษในด้านการสะท้อนความจริงของสังคมที่มิอาจมีใครปฏิเสธได้ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในส่วนของเนื้อหา ข้างต้น

ประการที่สี่ พิเศษในด้านเนื้อหาของเพลง เป็นเพลงที่สะท้อนความเป็นเพศที่สามเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพิเศษในด้านตัวผู้ขับร้อง เพราะฉะนั้นเนื้อหาของเพลงจึงต้องคล้อยตามไปด้วย และเนื้อหาส่วนใหญ่นอกจากจะสะท้อนความเป็นเจิน เจิน แล้วยังสะท้อนความจริงของเพศที่สามด้วย เปรียบเหมือนเพลงเหล่านี้เป็นตัวแทนของเพศที่สาม มีการให้กำลังใจกัน ต้องการให้สังคมยอมรับ เป็นต้น

ความพิเศษประการสุดท้ายที่ปรากฏ คือ การเน้นย้ำความต้องการเป็นหญิง ดังที่ปรากฏในเพลง ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มีการเน้นย้ำว่าฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง หลายครั้ง และผู้วิจัยคิดว่า หากเป็นผู้หญิงจริงๆ มาขับร้องก็คงไม่ต้องมาเน้นย้ำว่า ฉันก็เป็นผู้หญิง แต่นี่เธอเป็นเพศที่สาม เพราะฉะนั้นเธอจึงต้องเน้นย้ำเพื่อให้สังคมรับทราบ และเห็นใจเธอ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพผ่าน

บทเพลงเพราะคิดว่าถึงแม้เธอจะเป็นอย่างนั้น แต่เธอก็ควรได้รับการยอมรับจากสังคมบ้าง

ปัจจุบันนี้อะไรหลายๆ อย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป สังคมเริ่มให้การยอมรับในความสามารถของเพศที่สามมากขึ้น เพราะเพศที่สามมีความสามารถที่หลากหลาย ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่าง

มากมายทั้งในวงการวิชาการและวงการบันเทิง เป็นต้น

สรุป

จากการศึกษาบทเพลงของ เจิน เจิน บุญสูงเนิน สามารถจัดประเภทตามประเด็นของเนื้อหา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และบทเพลงเหล่านั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงกลวิธีการใช้ภาษาสัญลักษณ์ของผู้แต่งเพลงที่สามารถสรรคำที่สะท้อนอะไรบางอย่างของศิลปินเพลงได้

เป็นที่ทราบกันดีว่า บทเพลงและดนตรีล้วนเป็นผลมาจากความคิดของมนุษย์ในการถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกออกมาเป็นคำร้องและท่วงทำนอง นอกจากนี้บทเพลงและศิลปินเพลงก็มีส่วนนำเสนอให้เห็นความคิด ความรู้สึกได้ อีกทั้งยังสะท้อนความเป็นตัวของตัวเองของ

ศิลปินได้ นอกจากนี้บทเพลงยังได้สะท้อนความจริงของสังคมที่ทุกคนมิอาจปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตามไม่ว่าบทเพลงนั้น ใครจะเป็นผู้ขับร้อง เพศไหน อายุเท่าไหร่ก็ตาม และได้สะท้อนหรือไม่สะท้อนอะไรก็ตามหากบทเพลงเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ในวังคมของเรา มันก็ย่อมทำหน้าที่ ที่อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เราต่างหากที่จะได้รับคุณค่าจากบทเพลง อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน มนุษย์เราล้วนได้รับคุณค่าเหล่านั้นทั้งสิ้น และหากเพลงนั้นสามารถช่วยสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้ เราก็ควรจะใช้บทเพลงที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นรับใช้สังคมของเราเพื่อให้สังคมของเราเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป มิใช่ศักดิ์แต่ว่าฟังเพื่อความบันเทิง เท่านั้น

บรรณานุกรม

กิ่งแก้ว อัตถากร . คติชนวิทยา. พระนคร : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมฝึกหัดครู , ๒๕๒๙.

กุหลาบ มัลลิกะมาส . ความรู้ทั่วไปทางวรรณคดีไทย . พิมพ์ครั้งที่ . กรุงเทพ ฯ :

มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ๒๕๒๗ .

จินตนา ดำรงค์เลิศ รายงานการวิจัย ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม และการดำเนินชีวิต

ของชาวนาไทยที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่งไทย ตั้งแต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงปัจจุบันสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ๒๕๓๑ .

ธีระภาพ โลหิตกุล . ปฐมบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตไทย .. ๒๔๘๐๒๕๐๐ .

กรุงเทพ ฯ : โสมสาร , ๒๕๔๑ .

ปรานี วงษ์เทศ . เพลงพื้นบ้าน . วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร . ( กรกฎาคม ถึง

กันยายน ๒๕๓๓ ) : ๑๒ .

พรพิไล เทพคำ . เพลงคำเมืองกับวัฒนธรรมชาวล้านนา : วิเคราะห์เนื้อหาเพลงคำเมือง ช่วง

มกราคม ถึง ธันวาคม ๒๕๓๗ . วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญานิเทศศาสตร์ มหาบัณฑิต ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๓๙ .

พูนพิศ อมาตยกุล . ดนตรีวิจักษ์ . พิมพ์ครั้งที่ ๒ . กรุเทพฯ : รักษ์สิปป์ , ๒๕๒๙ .

ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . จิตวิทยาทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ ๔ .

โครงการตำรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานส่งเสริมการวิจัยและตำรากองบริการการศึกษา

สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ๒๕๓๘ .

ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . รำลึกพระคุณ . เชียงใหม่ : โรง

พิมพ์มิ่งเมือง , ๒๕๓๘ .

ราชบัณฑิตยสถาน . พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ . พิมพ์ครั้งที่ ๖ . กรุงเทพ ฯ :

อักษรเจริญทัศน์ , ๒๕๓๙ .

วิศาล เลาแก้วหนู และคณะ . เจิน เจิน บุญสูงเนิน ๑+= ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง . กรุงเทพ ฯ :

เลปโส้ , มปป.

ลักขณา สุขสุวรรณ . วรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง . ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต คณะศึกษา-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร , ๒๕๒๑ .

สมโภช รอดบุญ . สังคีตนิยมเบื้องต้นว่าด้วยเพลงคลาสสิค . กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์ , ๒๕๓๗ .

อนุมานราชธน , พระยา . การศึกษาวรรณคดีในแง่วรรณศิลป์ . พิมพ์ครั้งที่ ๒ . กรุงเทพ ฯ :

บรรณาคาร , ๒๕๑๘ .

อรชร เรือนคำ . การศึกษาภาพสะท้อนล้านนาและคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ จากบทเพลงของ

จรัล มโนเพ็ชร . วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอก

ภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร , ๒๕๓๗ .

อรายัน เลาสัตย์ . รายงานการวิจัยเรื่อง เพลงพื้นบ้านของท้องถิ่นภาคเหนือ ในเขตจังหวัด

เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ และ พะเยา . แผนกวิชาการศึกษาชนบท ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี , ๒๕๒๖ .

อรุณีประภา หอมเศรษฐี . การสื่อสารมวลชนเบื้องต้น . กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง ,

๒๕๒๘ .

ภาคผนวก

บทเพลงของ เจิน เจิน บุญสูงเนิน ทั้ง ๓ ชุด

ชุดที่ ๑ ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

เพลงที่ ๑ : ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง…..ฉันก็เป็นผู้หญิง…..ฉันก็เป็นผู้หญิง เป็นฉัน….มันผิดตรงไหน ชีวิตฉันใครกำกับ เป็นฉัน….ใครจะยอมรับ บทบาทให้ความสำคัญ ต่างกัน….แค่เพียงร่างกาย แต่ใจเราก็เหมือนเหมือนกัน ฉันก็เป็น….ผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันมีชีวิตจิตใจ ทำไมไม่เข้าใจกันบ้าง มีทุกข์มีสุขผิดหวัง ไม่ต่างอะไรกับคนอื่น ถึงฉันจะเป็นอย่างนี้ ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน ฉันสู้ฉันทนดิ้นรน ไม่ขอใครกิน ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง….ฉันก็เป็นผู้หญิง

เพลงที่ ๒ : ต้องสู้….จึงจะชนะ

ต้องสู้….ต้องสู้จึงจะชนะ อยู่ดีดีทรุดลงไม่น่าเสียใจ อยู่อยู่ไปพลาดผิดไม่น่าเศร้าซึม ทำตัวเหมือนสิ้นแล้วทุกสิ่ง วันวันเมาโซเซ ร่างที่ไร้วิญญาณเหมือนหุ่นไล่กา เปรียบชีวิตคนดัง….คลื่นใต้น้ำในทะเล บางครั้งขึ้น….บางครั้งลง ดวงดี….(ยินดี) ดวงอับ….(ช่างมัน) พรหมท่าน….ลิขิตไว้ให้เป็น สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน ต้องสู้….ต้องสู้จึงจะชนะ

เพลงที่ ๓ : เรื่องในใจมีใครรู้

(กลืนลงไป เจ็บช้ำเท่าใดไม่มีใครรู้) เรื่องในใจ หากไม่พูดแล้วใครเล่า ใครจะรู้ในความจริง เป็นบางครั้ง อยากจะพูดออกไป ว่าใจฉันมันขื่นขม ใจรักเธอ หากว่าเธอเข้าใจ ว่าเธอต้อง อดทน กลืนลงไป เจ็บปวดช้ำเท่าใด อย่าไปให้ใครรู้ เหยียบเข้าสังคมที่ผิด คือฉันไม่เคยปรารถนา ใครเลยจะเข้าใจ….ความขมขื่น กลืนมันลงไป ใจรักเธอ หากว่าเธอเข้าใจ ว่าเธอก็ต้องอดทน กลืนลงไป เจ็บปวดเท่าใดอย่าไปให้ใครรู้ ผู้ชาย….ไม่ใช่ไม่มีน้ำตา แต่ไม่กล้าให้มันไหลออกมา กลืนลงไป เจ็บปวดเท่าใด อย่าไปให้ใครรู้

เพลงที่ ๔ : ฉันให้เธอไม่ได้

(ให้เธอไม่ได้ ให้เธอไม่ได้ ชาตินี้ฉันก็คงให้เธอไม่ได้) แล้วน้ำตา ฉันก็ต้องเช็ดหัวเข่า เมื่อถูกเขาทอดทิ้ง ช้ำใจยิ่งนัก ยอมทุ่มเททุกสิ่งที่เธอเอ่ยปาก ควักหัวใจให้เธอก็ยอม ให้ได้ฉันจะให้ ซื้อได้ฉันจะซื้อ ซื้อหัวใจให้เธอ….คืน ของสิ่งอื่นทดแทนได้ไหม สายเลือดของเรา ลูกที่เธอต้องการ ไม่มีวัน (ไม่มีวัน) ที่เป็นไปได้ (ที่เป็นไปได้) ไม่มีวัน ชาตินี้ฉันคงให้เธอไม่ได้ (ชาตินี้คง ให้เธอไม่ได้ ชาตินี้ฉันก็คงให้เธอไม่ได้)

เพลงที่ ๕ : แฟนฉันหนีไป

(เป็นไปได้ไง….เป็นไปได้ไง คิดไม่ถึงเลย….แฟนฉันหนีฉันไป….คิดไม่ถึง….แค้นนัก….รักคนอย่างเธอ….) จากกันไป สามปีสี่วัน (สามปีสี่วัน) เธอทิ้งฉัน ไม่กลับมา (ไม่กลับมา) เธอทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่าง ช่างเหมือนพายุ ที่โหมกระหน่ำ (ทำลาย ทำลาย) แฟนฉันหนีฉันไป (จริง….จริง) ทำไมทำ….อย่างนี้ รักกันอยู่ดีดี (ดีดี) เธอเดินหนีฉันไป เกลียดชัง….คนไม่มีหัวใจ เกลียดจนตาย….ไม่ขอพบเจอ แค้น (สุดจะแค้น….แค้น….แค้น….) คนไม่มีหัวใจ ฆ่ากันอย่างเลือดเย็น เป็นใคร….ใครก็ช้ำ แฟนฉัน หนีฉันไป

เพลงที่ ๖ : เธอต้องอดทน

เธอ….ต้องอดทน เธอ….ต้องอดทน เธอต้องอดทน เหยียบเข้าสังคม บนเส้นทางกว้างใหญ่ จากบ้านเดิมท่องไปทุกแห่งหน เพื่ออนาคตต้องอดทน เกิดเป็นคนก็ต้องดิ้นรน จะสามปี หรือสี่ห้าชาติ กัดฟันทน ลุยมันเข้าไป โชคชะตา จะดีหรือร้าย มันบ่แน่ดอกนาย จำใส่ไว้ว่า….ต้องอดทน (เรานั้นต้องอดทน) น้ำในตา….มันแพงกว่าเลือด กล้ำกลืน กลั้นไว้ในใจ (ศักดิ์ศรีของความเป็นคน) (อดทนสู้จนขาดใจ) เธอ….ต้องอดทน (จนสุดฤทธิ์ สุดแรง)

เพลงที่ ๗ : ผัวข้าใครอย่าแตะ

(ผัวนะเอ๋ยผัว ทุกคนมาฟังเรื่องผัว อยากจะมีผัวเหามันก็อยู่บนหัว ถ้ากลัวปัญหาอย่าหาเหาใส่หัว) ผอสระอัวผัวใคร ใครก็หวง ทั้งน้อย ทั้งหลวงมีผัวหัวเดียว ผัวข้าของข้าคนอื่นไม่เกี่ยว ของข้าคนเดียว….ผัวข้าใครอย่าแตะ เฮ้ย มีผัวนักร้อง น้องต้องเป็น สาม สี่ ห้า มีผัวเล่นม้า ก็คงกินหญ้าแทนข้าว มีผัวชาวนา หน้าตาคงดำเป็นเงา รู้แล้วจะหนาว ถ้ามีผัวชีกอ…. ชอกี ชีกอ มีผัวอันธพาล วันวันมีแต่เรื่องเสียว มีผัวขี้เหนียว รับรองเราต้องเหี่ยวตาย มีผัวแท็กซี่ ระวังโดนจี้โดนไช ไม่อยากเป็นกระสอบทราย อย่ามีผัวนักมวย ฮุคซ้ายฮุคขวา มีผัวนายทุน นั่งลุ้นแต่ผลกำไร มีผัวทนายไม่วายขึ้นโรงขึ้นศาล มีผัวช่างฝัน ได้แต่ละเมอเพ้อพบ ถ้ามีผัวนักรบ ไปคอยรับศพที่วัด ผัวนะเอ๋ยผัว มีผัวย่อมมีปัญหา เรื่องธรรมดา จะคิดมากไปทำไม เป็นหนี้กันมา ก้มหน้ารับกรรมไป ยังไง ยังไง ก็ผัวเรา ผัวข้าใครอย่าแตะ

เพลงที่ ๘ : น้ำเทวดา

กินเหล้าทำไม (ไม่บอก) บอกหน่อยได้ไหม (ไม่สน) เหตุใด ผู้คน ทั้งมีทั้งจนจึงชอบกินเหล้า บอกว่าอย่าเทเดี๋ยวจะติดลม นี่เกือบจะกลมมันชักจะคลื่นเหียน ได้ส้มมะขามส้มตำช่วยคลายเลี่ยน กินแล้วเป็นเซียนน้ำเทวดา ไม่เคยผิดหวัง ยิ่งดื่มยิ่งเมาดังเขารับประทาน นั่นไงสวรรค์ตรงนั้นเห็นลางลาง เพียงเสกคาถาเปิดฝาได้ทุกอย่าง เพี้ยง อย่าทิ้งอย่าขว้าง เปิดฝาดูบ้างอาจถูกรางวัล (เอ้า) ….แถม….อีกกลมความขมเป็นยาน้ำชอบ ยกๆ ๆ อีกรอบ….ขอบพระคุณที่แถม สุรานิยมสะสมกันทั่วไทย ใส่ตู้ใส่ไหเก็บไว้ตามข้างฝา ดูทันสมัยอวดใครไม่ขายหน้า ดื่มแบล็คดีกว่า ชีวาสก็น่าจะโอเค แฮ….แฮ้ บอกว่าจะกินเพื่อนเทชักไม่ทันใจ ไทยทำไทยใช้คนไทย ต้องช่วยกันกิน เชี่ยงชุนเหล้าขาวน้ำโขงหรือหงส์บิน เหล้าไทยทั้งสิ้น กินแล้วซู่ซ่าสภารับรอง รับรองว่าต้องเมาน้ำเหล้าบ่ใช่น้ำชา รับรองถึงชาติหน้าดื่มสุราต้องเมา (ไม่บอก ไม่สน)

เพลงที่ ๙ : ดื่ม….ดื่มอีกแก้ว

ดื่มอีกแก้ว….ดื่มอีกแก้ว….ดื่มอีกแก้ว….ซดอีกแก้ว เมื่อเอ็งกับข้า มาเจอกัน จะมัวเกรงใจ ให้เซ็งทำไม….กินเหล้าดีกว่า….เน้อ ถือโอกาสนี้ ที่เจอกัน มาบรรเลงเพลงเมา ดื่มเหล้าดีกว่า ดื่ม ดื่ม อีกแก้ว ยกอีกแก้วเพื่อนเอ๋ย เต็มที่ไปเลย ให้มันเซไปเซมา ข้ากะเอ็ง….อย่างดี ไม่เกินร้อยปี ก็คงต้องตาย ปลงเสียเถิดหนาปัญหามากมาย ย้อมใจด้วยเหล้า ซดมันเข้าไป อีกแก้วเลยไง ให้ลืมโลก

เพลงที่ ๑๐ : แก้วนี้เพื่อเธอ

เจ็บอีก….กี่ครั้ง….กี่ครั้ง….กี่ครั้ง….เจ็บอีก….กี่ครั้ง….กี่ครั้ง….กี่ครั้ง….จะกี่ครั้ง แสงสีที่สดสวย เสียงเพลงเสียงดนตรี กล่อมราตรีนี้ให้สดใส สุราที่ร้อนแรง รสชาติที่ขื่นขม ไม่อาจข่มดวงใจ ให้คลายรักเขา เขารักเราจริงหรือเปล่า "เหล้าจ๋า….เขาไม่เคยบอก" หากหลอกกัน ฉันคงต้องตาย (ดื่มให้มันเมา กินเหล้าเคล้าน้ำตา) ไม่ควรเลยหนา ไม่น่าไปรักเขา แก้วนี้เพื่อเธอ ฉลองให้มันเมา "เมาให้ลืมความเศร้าที่ดื่มเข้าไป" (เจ็บอีก….กี่ครั้ง….จะกี่ครั้ง)

เพลงที่ ๑๑ : ไม่อยากคิด

(ไม่อยากคิดอีกแล้ว ไม่อยากคิด ปิดบัญชีเสียเถิด) ปิดบัญชี เสียทีคนมักง่าย ฝากรักไว้ หัวใจต้องเฉา อยากจะไปก็เชิญ ไม่ต้องเดินย้อนมาที่เก่า ฉัน….ไม่เอาแล้วคนอย่างเธอมากรักเหลือเกิน ยอดชายอีกเท่าไรเธอถึงจะพอ พ่อร้อยชู้พันรัก รักที่เป็นพิษ ไม่อยากคิด อยากจำ สิ่งที่เธอ ทำไว้ ใจมันเจ็บ ไม่อยากคิด ไม่อยากคิด ไม่อยากคิดอีกแล้ว (ไม่อยากคิดฉันขอปิดบัญชี) ปิด….บัญ….ชี….เสีย….ที

เพลงที่ ๑๒ : ยังไงก็ไม่เหมือนกัน

เพราะอะไร….เพราะอะไร….ไม่เหมือนกัน….ทำไม….จึงไม่เหมือนกัน ไม่เหมือน….ยังไงก็ไม่เหมือน เลือดไม่ต่างสี สีเดียวกัน เหมือนทุกอย่าง ไม่ต่างอะไร ในความเป็นคน ทำไมคนรวย ก็รวยเสียจนปี้ป่น ไอ้จนก็จนเสียไม่มีกิน ฟ้า….ลิขิตไว้ แข่งไม่ได้ บุญวาสนา แม้นพี่น้องคลานตามกันมา ยังต่างกันราว….ฟ้า….กับดิน

ชุดที่ ๒ ผีเสื้อราตรี

เพลงที่ ๑ : ผีเสื้อราตรี

เนื้อร้อง : ชลธี ธารทอง

ในมุมๆ หนึ่ง ยามราตรี ผีเสื้อปีกสวยโบยบินเป็นหมู่ แพรวพราวสีสันของอาภรณ์ล้อแสงไฟส่อง สร้างความเรืองรองให้กับคืนนี้ เก็บกดอารมณ์ ลงไปในความมืดดำ น้ำตาเจ้ากรรมไหลปรี่ มีใครเข้าใจไหม ฉันต้องแกล้งทำเป็นยั่วยวน ยั่วยวน….(ยั่วยวน) เหวี่ยง เหวี่ยง เหวี่ยง ออกไปซะ เป็นอะไรก็ช่างมัน เป็นอะไรก็ช่างตัวฉัน นี่คือ….อาชีพของฉัน ในมุมๆ หนึ่งที่ซึมเซา บางคนเหงาๆ นั่งไม่มีเพื่อน บางคนฉลองวันสำคัญ เพื่อนฝูงมากหน้า หลากหลายลีลาในค่ำคืนนี้ เก็บกดอารมณ์ ลงไปในความมืดดำ น้ำตาเจ้ากรรมไหลปรี่ มีใครเข้าใจไหม ฉันต้องแกล้งทำเป็นยั่วยวน ยั่วยวน….(ยั่วยวน) เหวี่ยง เหวี่ยง เหวี่ยง ออกไปซะ เป็นอะไรก็ช่างมัน เป็นอะไรก็ช่างตัวฉัน นี่คือ….อาชีพของฉัน

เพลงที่ ๒ : เถ้าแก่

เนื้อร้อง : พรพจน์ อันทนัย

ดีนะ ที่ฉันไม่รวย ไม่งั้นไม่ช่วยเถ้าแก่ หงุดหงิดอีแค่เรื่องขี้ประติ๋ว แต่ทำซะเหมือนดังว่าโลกจะแตก ดีนะ ที่ฉันไม่รวย ไม่งั้นไม่ช่วยเถ้าแก่ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนฉันสู้ไม่ถอย แต่เงินเดือนน้อยข้อยบ่สู้ไหว ลูกจ้างอย่างฉัน สมบุกสมบันทั้งอดทนทั้งทน คนขยันไม่เคยตาย สุดท้ายร่ำรวย ถึงทีฉันบ้างแล้วคอยดู….สุดๆ เลย จะเที่ยว จะกิน จะดิ้น จะลุย จะแต่ง จะเติม จะเสริม จะคุย ดีนะ ที่ฉันไม่รวย ไม่งั้นไม่ช่วยเถ้าแก่ ได้แต่ฝันเล่นว่าเป็นเศรษฐี นี่ดีนะที่เกือบจะรวย

เพลงที่ ๓ : เพลง….รถไฟ

เนื้อร้อง : พรพจน์ อันทนัย

เห็นรถไฟเทียบชานชลา น่าใจหาย หัวใจเต้นดัง คนรอรับ ยิ้มชื่นสมหวัง แต่ว่าฉันนั้นต้องมาส่ง หวูดรถไฟ….ไร้ความปราณี เห็นใจดวงนี้บ้าง หวูดดังเตือนเฉือนใจคน ครวญครางจนฉันแทบขาดใจ เห็นรถไฟ เคลื่อนไปต่อหน้า โบกมือลา น้ำตามันคลอ นานเท่าไร ฉันก็จะรอ ขอแค่ฝัน ถึงกันทุกคืน

เพลงที่ ๔ : ยิ้มสู้

เนื้อร้อง : ชลธี ธารทอง

สง่างามผึ่งผาย ใบหน้าเรี่ยมๆ เร้ เขานั้นดวงเกิดสูง….ถึงมี…..ช้อนทองจานหยก ตัวเรานั้นอาภัพดวง ปมด้อยใหญ่หลวงเหลือเกิน เวลาตกฟากของฉัน มันไม่ได้เรื่องเลย สง่างามผึ่งผาย ใบหน้าเรี่ยมๆ เร้ เขานั้นเพียงเอ่ยขาน….ก็เป็นล้านๆ เป็นหมื่น เวลาฉันเอ่ยขานบ้างได้เพียงแค่เหรียญๆ เอง วงเวียนวงล้อม สังคม….ที่….นิยมมีเกียรติ แม้ฉันเป็นอย่างนี้ จะดีจะร้ายก็ช่าง แม้ฉันเป็นอย่างนี้ จะบวกจะลบไม่แคร์ แม้ฉันเป็นอย่างนี้ ลืมมันเลยอดีต ยิ้มสู้ไปไม่ถอย….ยิ้มสู้ไปไม่ถอย….ยิ้มสู้ไปไม่ถอย

เพลงที่ ๕ : ความรัก….ชะช่า

เนื้อร้อง : ประสิทธิ์ ชำนาญไพร

ราตรีนี้งามสดสวย ในเมืองหลากสียวนยั่ว ดนตรีดังแว่วมา ฟังบาดใจ ชวนให้คิดถึงเธอ ความรักชะชะช่า คงไม่ลืมง่ายๆ เธอไปอยู่ไหนเล่าเอ่ย มองจนมึนจ้องใครเป็นใครจับคู่เต้น ชะชะช่า เธอไปไหนล่ะ เธอไปไหนล่ะ เธอเต้นอยู่กับใคร ดิ้นเอา….ซิ ดิ้น ดิ้นซิ เพลงมันเร้าใจ ช้ำสุดเจ็บช้ำ สุดเจ็บปวด ทนช้ำใจ มือประคอง แก้วแทนความรักไว้ หวังมีเธอเคียงข้างกาย ความรักชะชะช่า ปานน้ำผึ้งจากรัง คงต้องรอจนสิ้นหวาน มันไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่คืนนี้

เพลงที่ 6 : สัญญา สาบาน

เนื้อร้อง : พรพจน์ อันทนัย

() โอ้….รักใยเลยต้องลงเอยด้วยความขื่นขม ผ่านเหมือนดังลมจากไปไร้ร่องรอย

() น้อยใจไปทำไมเล่า เมื่อเธอยังมีฉันนี่ไง

() ไว้ใจเธอได้แค่ไหน

() เอาหัวใจเป็นประกัน

() กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย….กลัวใจคงสลายอย่างที่แล้วมา

() ใช่เพียงเธอเท่านั้นที่ร้าวร้าน….ฉันยิ่งกว่า เชื่อเถอะนะ สัญญาก็ได้

() สัญญา

() สาบาน

(คู่) ให้ตะวันท่านเป็นพยานรักเรา

() มอบชีวิตให้เธอดูแล

() รักแท้ไปจนวันสิ้นใจ

(คู่) อยากให้ประวัติช้ำ ซ้ำรอยอีกเลย

เพลงที่ ๗ : ดาวตลกในโลกกลมๆ

เนื้อร้อง : ชลธี ธารทอง

ก็บางครั้งบางคราว ดาวตลกยังเคยร้องไห้ จะเอาแน่อะไรกับโลกกลมๆ เดี๋ยวก็ทุกข์เต็มกลืน ยามนั่งยืนฝืนใจข่ม เดี๋ยวสุขสมสังคมช่างอนิจจัง ก็บางครั้งบางคราว ดาวตลกยังเคยหมองเศร้า แอบไปนั่งซึมเซาเมื่อโลกชิงชัง เปรียบชีวิตคนเรา ดั่งสำเภาร่องรอยไกลฝั่ง เดินหน้าถอยหลัง ไม่พ้นอำนาจเงินตรา เด่นดับดวงคน คงว่ายวน ไม่มีสิ้นสุด เพื่อนมนุษย์ทุกนามมีกรรมเก่ามา เงินซื้อลมหายใจ ซื้อไม่ได้เหมือนว่า ถึงเวลา สิ้นแรง สิ้นลมแน่นอน

เพลงที่ ๘ : นางฟ้าจำแลง

เนื้อร้อง : พรพจน์ อันทนัย

บนสวรรค์นั้นมีนางอัปสร ที่งามงอนคู่เทพเทวา บนดินยังมีฉัน ที่สวยไม่นางฟ้า แปลงร่างมาให้เคียงคู่เธอ ตัดแต่งเติมให้เหมือนให้เป็น เป็นยอดหญิงเพื่อเธอเท่านั้น รางวัลที่ได้รับของคนอาภัพอย่างฉัน ก็คือวันที่เธอจากไป นางฟ้า นางฟ้าจำแลง แปลงร่างให้โสภาแค่ไหน ไม่มีเธอก็หมด ความหมาย จะอยู่ไปเพื่อใคร เจ็บช้ำเท่าไรก็คงไม่สน มีบ้างไหมสักคนเข้าใจ

เพลงที่ ๙ : เพลง….เซ็ง

เนื้อร้อง : พรพจน์ อันทนัย

เซ็ง….รินเอารินเข้าไป ดื่มให้เมาให้มายให้หายเซ็ง เมาให้เขาปัดเป็นหนุ่มหมัดเมา เซมาแล้วก็เซไป เต้นซิเต้นซิ โยกไปโยกมาร่องรอยเป็นดาราอยู่ในกลางฟลอ ฟังเพลงให้คลายเศร้า กินเหล้าให้ชุ่มคอ รูปหล่อแต่ไม่รวย เทวดาท่านก็ไม่ช่วย สวยแต่ไร้คนแต่ง ต้องแห้งตาย รินเข้าไป….ดื่มเข้าไป ให้หายเซ็ง ให้มันเซ ให้มันเปล เมาสักคืน ยังดีกว่าเมาทุกวัน

เพลงที่ ๑๐ : ANATA เทียวไล้เทียวขื่อ

เนื้อร้อง : สุรพล โทณะวณิก

อานะตะ เธอหล่อดี ดูเท่จับตา วาตะชิ ฉันก็หญิงน่าเสน่หา ไม่มีใครเป็นรอง เพราะเราถูกฟ้า แต้มแต่งมา เมื่อตาจ้องตา เกิดภาระหัวใจ อานะตะ มีสิ่งดี ที่ฉันไม่มี ฉันก็มี สิ่งดีๆ ที่เธอไม่มีนั้นคือใจ ดวงเดียว ที่ยังปิดเซฟเก็บไว้ คือต้องดีเมื่อไหร่ ได้เปิดต้องดี อะไร สำคัญ ตัวฉัน รู้อยู่ จึงถนอมดู ไม่ให้เสื่อมศักดิ์ศรี เกิดเป็นไม้งาม เห็นใครๆ ก็เด็ดดอกดี ดอกที่มี กลีบสดสี หอมที ชื่นใจ อานะตะ เธออยากหอม ก็ต้องศรัทธา เอารักมา ไม่ต้องจ่าย จะให้ฟรี รักต้องแลก ด้วยรัก ไม่ใช่ของดี แจกใคร เทียวไล้แล้วเทียวขื่อ ฉัน SAY GOODBYE

เพลงที่ ๑๑ : จริงใช่ไหม

เนื้อร้อง : โม- สุอาภา ยอดพรหม

บอกมา บอกมา เรื่องจริงใช่ไหม ข่าวมาเห็นเธอระริกเดินเล่นที่ห้างเมื่อวาน คนข้างๆ กายนั่น เป็นสาวน่าแอบน่าอิง มันรวดมันเร็วจนฉันแทบช๊อค คิดอยากจะถามความจริง บอกฉันตรงซิ ว่าจริงใช่ไหม ซ้ำร้ายว่าฉันโมเม ชอบคิดเกเรเดาสุ่ม เธอคุยเป็นเพื่อนในกลุ่ม เมื่อครั้งเคยเรียนร่วมกัน นี่นะหรือเหตุผลใยต้องฝืนใจ ยอมเชื่อเธอ ยอมโง่เอง ถ้าหากจะคิดแยกทาง ฉันจะไม่รั้น เธอไว้ บอกซักคำ จริงใช่ไหม

เพลงที่ ๑๒ : เพลงสุดท้าย

เนื้อร้อง : พรพจน์ อันทนัย

เพลงสุดท้าย ยังจำฝังใจไม่ลืม รู้จักเธอ รักเธอก็เพลงบทนี้ คนช้ำรักเจอคน เจ็บเพราะรักย่ำยี เราสมดุลย์ พอดี ซ้ำต่อ….ซ้ำ ฟังซิ….ฟัง ฟัง ฟัง…. เสียงเพลงก้องดังอีกแล้ว เพลงขับขานหวานแหวว เจื้อแจ้ว แล้วเธออยู่ไหน ให้สัญญิง ให้สัญญา จะรักกันจนกว่าฟ้าดินสลาย คำบอกลาสักคำก็ยังไม่มี ต้องร้องไห้ทุกที ฟังเพลงสุดท้าย

ชุดที่ ๓ ข้าคือคนไทย

เพลงที่ ๑ : ข้าคือคนไทย

เรียบเรียง : อ้วน ธุวัชชัย

เงียบขรึม ใช่ว่าฉันจะโง่งม อดกลั้น ใช่ว่าฉันจะเฉื่อยชา หนึ่งในคำสอน เหล่าบรรพชนสืบมา นำพาพวกเรา….ก้าวไป แผ่นดินแม่ผู้มีแต่ให้เรา พระคุณ ใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งใด แทบไม่ต้องถามประเทศชาติให้อะไร เป็นไทย คนไทย ต้องตอบแทน ข้า….คือคนไทย ไม่เคยลืมชาติพันธุ์ จะอยู่ที่ใด จะตายที่ใด วิญญาณ….ก็เป็นคนไทย จะอยู่ที่ใด จะตายที่ใด วิญญาณฉันก็เป็นคนไทย

เพลงที่ ๒ : ชีวิตฉัน….ชีวิตเดียว

เรียบเรียง : ออย ติยะรัตน์

ด้วยมือ….ของฉัน ชีวิตฉัน….แค่ชีวิตเดียว ก้าวแค่เพียงก้าวเดียว ไม่อาจขึ้นถึงสวรรค์ ตึกใหญ่….ระฟ้า สร้างมาจากรากฐาน เช่นกัน ต้องขึ้นทีละขั้น ทีละขั้นจนถึงขั้นจุดหมาย ด้วยมือ….ของฉัน ชีวิตฉัน….แค่ชีวิตเดียว หมากรุกกระดานเดียว ไม่ชนะก็ต้องพ่ายแพ้ ขอสู้….ไม่ถอย ชีวิตข้าน้อยใครจะแคร์ เลือดนักสู้ที่แท้ เจ็บมีแผล….เรื่องธรรมดา ปีนี้เดือนนี้ วันนี้ ชั่วโมงนี้ ทำอะไรที่ดีดี กับชีวิตบ้างหรือยัง ปีนี้เดือนนี้ วันนี้ ชั่วโมงนี้ ทำอะไรที่ดีดีกับชีวิตแล้วใช่ไหม

เพลงที่ ๓ : พระจันทร์เสี้ยว

เรียบเรียง : อาร์ต นวลนิรันดร์

(พูด) พระจันทร์เสี้ยวใครชมว่าสวย สำหรับฉันมองแล้วมันเศร้า ไม่เต็มดวง….ไม่เต็มอย่างเขา ทำไมเรา….ต้องเป็นอย่างนี้ มีไม่เท่ากัน….มันไม่แฟร์ โลกรังแก….แต่ฉันก็ยอม ยอมรับความจริง แต่ไม่ยอม พ่ายแพ้ใคร….ในความเป็นคน คนเอ๋ยคน วัดกันตรงไหน… "เป็นที่สุด" เป็นผู้ดี……มั่งมี ดีร้าย….ยากจน ร่างพิการหรือใจพิกล คุณค่าของคน เขาวัดกันที่ตรงไหน ไหนใคร….ช่วยตอบฉันที คนอย่างฉัน ….ฝันไว้เสมอ หวังว่าสักวัน พระจันทร์เสี้ยว….ที่แลเห็น ต้องเป็น….จันทร์ที่เต็มดวง

เพลงที่ ๔ : ครั้งหนึ่งของฉัน

เรียบเรียง : ออย ติยะรัตน์

(พูด) "ครั้งหนึ่งของฉัน กับวันที่แสนเศร้า" ยืนใต้ต้นสน อยู่ริมถนนสายเก่า มีเพียงแต่เรา แต่เขาไม่มา ฟ้าสดใส เปลี่ยนสีมัวหม่น ดอกหญ้าโรย ร่วงหล่น ไม่ซึ้งใจ เธอเคยกอดฉัน เอ่ยคำที่แสนยิ่งใหญ่ รักรักใช่ไหม จำได้ไหมเธอ หมู่ทิวสน ร่วมเป็นพยาน เธอแปรผัน แต่ฉันยังเหมือนเดิม สิ่งเดิม แต่เธอไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนคนที่เคยเป็น เงียบหาย ไปกับสายลม สิ่งเดิม แต่เธอไม่เหมือนเดิม ลืมรัก ลืมสัญญา สนจ๋า เขาลืมเราแล้ว

เพลงที่ ๕ : มีเธอมีฉัน….มี

เรียบเรียง : พร โชคดีฯ

อยู่อย่างเดียวดาย ไม่เหลืออะไรให้หวัง วันนี้ไม่มีเธอเคียงข้าง พรุ่งนี้ฉันจะเป็นอย่างไร เธอคือความหวัง ผู้เสริมเติมพลังแห่งใจ (มีเธอ มีฉัน มีสุข….มีทุกข์….มีฟ้า….มีดิน) ก็ฟ้า….เท่านั้นที่รู้ (ฉันคือผู้แพ้….ที่ยังไม่ตาย) (มีเธอ มีฉัน มีสุข….มีทุกข์….มีฟ้า….มีดิน) พายุพัดคลื่นซัดตอกย้ำกระหน่ำ อย่าถามว่าเจ็บแค่ไหน เมื่อเธอประนามเหยียดหยาม เงารักหลอกหลอนประจำ ประจาน….ในความโง่งม ข่มตาเท่าไร เมื่อน้ำผึ้งกลายเป็นขม (มีเธอ มีฉัน มีสุข….มีทุกข์…..มีฟ้า….มีดิน)

เพลงที่ ๖ : นุ่งลม….ห่มฟ้า

เรียบเรียง : อ้วน ธุวัชชัย

ใครเคยมีความฝัน แบบฉันบ้างไหม ได้ท่องเที่ยวไป ลอดถ้ำไต่ภูผา ขุนเขาลำไพร ไกลสุดลูกตา สายธารทุ่งหญ้า ปัฐพีนี้ของเรา ใครเคยมีความฝัน แบบฉันบ้างไหม เพลิดเพลินอยู่ในสายหมอกหมู่เมฆา ยืนต้านลมหนาว บนเขาสูงเสียดฟ้า โลกสวยหนักหนา ใครหนอเป็นผู้สร้าง นุ่งลมห่มฟ้า เป็นคนป่าคนดง อยากให้มีฝันอันวิจิตรบรรจง ของฉันเป็นจริง

เพลงที่ ๗ : เมียจ๋า….จงเจริญ

เรียงเรียง : หน่อย วานิช

(+๑ เป็น ๒ , +๒ เป็น ๔ บวก ลบ กี่ทีก็อยากมีเมีย) หนุ่มหนุ่มวัยฉกรรจ์ เหมือนช้างตกมันอยากจะมีเมีย สตาร์ทใจ….ใส่เกียร์ เสี่ยงตายได้เสีย ขอเมียสักคน (อยากมีเมีย….อยากมีเมีย…..อยากมีเมีย) เขาว่า….หนึ่งเมียดีเหมือนมีเทวา สามองค์มาเอาใจ อยากให้เมียสวย ซิ่งสักแค่ไหน ต้องหาเงินให้เมีย ฟังเมียพูดแล้วจะร่ำรวย ตบตีเมียเหมือนเต่าล้านปี สุภาพบุรุษ….ที่ดี ต้องกลัวเมีย…. เขาว่า….มองเมียสวย แม้เหล้าไม่มีทั้งวันก็ยังเมา เลี้ยงเมียจนอ้วนเอาอ้วนเอา แทบไม่ต้องนับมื้อ ยิ่งเลี้ยงเมียเมียก็ยิ่งดุ ดุไม่ว่าตายช้าอีกต่างหาก คิดให้หนัก….ถ้าหากอยากมีเมีย "เมียจ๋า….จงเจริญ"

เพลงที่ ๘ : ข้าวแกง….ติดดิน

เรียบเรียง : หน่อย วานิช

คนเดินดิน….ต้องกินข้าวแกง คนเดินดิน….ต้องกินข้าวแกง ขายข้าวแกง ต้องสำแดงฝีมือ เพื่อประทังสามมื้อ ต้องไว้ชื่อ….กันหน่อย อร่อยรสเด็ดต้องติดใจ เสน่ห์ที่ปลายจวัก ลูกค้ารัก รักจนตาย ขายข้าวแกงอย่าห่วง ต้องโชติช่วงชัชวาล แกงเขียวหวาน แกงป่า แกงเหลือง แกงไตปลา แกงฮังเล แกงหมูเทโพ แปะซะ ชามโตๆ….โอ้ โห น่ากิน คนเดินดิน….ต้องกินข้าวแกง แกงลูกชิ้นปลากราย หนมจีนแกงไก่ แถมไข่นกกระทา สุดฝีมือแล้วจ้า ติชมไม่ว่า แม่ค้าเช็คบิล คนเดินดิน….ต้องกินข้าวแกง

เพลงที่ ๙ : เหมยฮัว

เรียบเรียง : อ้วน ธุวัชชัย

เหมยฮัว : เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศไต้หวัน "ดอกเหมย ดอกเหมยเจ้าบานอยู่อย่างดาษดื่นเต็มทั่วทั้งฟ้าทั้งดิน ยิ่งหนาวเย็น เจ้าก็ยิ่งสะพรั่ง ดอกเหมยนั้นชูช่ออย่างสง่างามเข้มแข็ง และทรนง เหมือนดั่งประเทศชาติที่ยิ่งใหญ่ของเรา" "มองดูซิ….ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเต็มไปด้วยดอกเหมย ที่ไหนมีพื้นดิน ที่นั่นก็มีเจ้า ถึงจะมีลมฝน หิมะ หรือ น้ำแข็ง เจ้าก็ไม่เคยหวั่นหรือสะทกสะท้าน เจ้าคือ ดอกเหมย ดอกไม้ประจำชาติของเรา

เพลงที่ ๑๐ : อย่าถามชื่อฉัน

เรียบเรียง : พร โชคดีฯ

อดีตนั้น สำคัญไฉน โปรดอย่าซักไซร้ ให้มันผ่านไป เหมือนลม พ่อแม่เลี้ยงฉัน ขอบตาระบม พลาดผิดขมขื่น จนมาพบเธอ เธอคือความหวัง พลังแห่งใจ ผู้จุดประกายไฟ ชีวิตฉันให้ลุกโชน ฉุดให้ฉัน ฮึดสู้อีกหน เชิดหน้ามองคน อย่างเต็มภาคภูมิ อย่าถามชื่อฉัน ถามเรื่องวันวาน อย่าให้มัน สำคัญยิ่งกว่า กว่าฉันคนนี้ (กว่าฉันคนนี้) ที่เธอต้องการ (ที่เธอต้องการ) แค่เรารักกัน….เท่านั้นก็พอ อย่าถามชื่อฉัน ถามเรื่องวันวาน แค่เรารักกัน เท่านั้นก็พอ

เพลงที่ ๑๑ : พรุ่งนี้ต้องดีกว่า

เรียบเรียง : อาร์ต นวลนิรันทด

ทุกทุกคนอยากมี ชีวิตที่ดีกว่า แทบทุกเรือนหลังคา ปัญหาร้อยแปดพันเก้า ไอ้เข้มันลงตัว จะมีสักกี่ครอบครัว บ้างก็อาจจะหัวมงกุฎท้ายมังกร ทุกทุกคนอยากมี ชีวิตที่ดีกว่า ใช่ว่ารวยล้นฟ้า จะซื้อหารักได้ที่ไหน จนเงินแต่มีรัก มีความเข้าใจ รวยเงินแต่จนใจ มันก็ไม่ดี เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ค้นหากันไป แพ้ชนะใช่เรื่องใหญ่ เรื่องธรรมดา เสียงหัวเราะของผู้คน อาจเจือปนคราบน้ำตา เพื่อชีวิตที่ดีกว่า สู้ต่อไป (พรุ่งนี้ต้องดีกว่า สู้ต่อไป) (พรุ่งนี้ต้องดีกว่า สู้ต่อไป ) (พรุ่งนี้ต้องดีกว่า สู้ต่อไป)

เพลงที่ ๑๒ : ชีวิตนี้มีเดิมพัน

เรียบเรียง : พร โชคดีฯ

(เอ้….โอ้….เอ้….โอ) พสุธา….แผ่นฟ้ากว้าง ผู้คนขึ้นเหนือล่องใต้ เมตตาชิงชัง….เกิดและตาย เมื่อไหร่….ใครเล่าจะรู้ ความรักความทุกข์ สุขหรือความยินดี ย่อมต้องมีวันที่เลิกรา สักครึ่งเตรียมใจไว้ สักครึ่งราคา เตือนสติเราว่าอย่า….ลุ่มหลง พรุ่งนี้ดีหรือร้าย….ไม่หวั่น ชีวิตนี้มีฉันเดิมพัน โลกเรายังกว้างไกล ทำไม….ไม่ท่องไป ให้สง่างาม อีกสักครั้ง



*นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พรพิไล เทพคำ . เพลงคำเมืองกับวัฒนธรมชาวล้านนา : วิเคราะห์เนื้อเพลงคำเมือง ช่วงมกราคม ถึง ธันวาคม ๒๕๓๗ . (วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญานิเทศศาสตร์ มหาบัณฑิต ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๓๙ ), หน้า ๑๐ .

กิ่งแก้ว อัตถากร. คติชนวิทยา . (พระนคร : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมฝึกหัดครู , ๒๕๒๙ ), หน้า ๑๐ .

ธีระภาพ โลหิตกุล . ปฐมบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตไทย พ.. ๒๔๘๐๒๕๐๐ . ( กรุงเทพ ฯ : โสมสาร , ๒๕๔๑ ), หน้า ๑๑๑๓ .

ปรานี วงษ์เทศ .เพลงพื้นบ้าน”. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ๒.( กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๓ ) , หน้า ๑๒ .

อรายัน เลาสัตย์ . รายงานการวิจัย เรื่อง เพลงพื้นบ้านของท้องถิ่นภาคเหนือในเขตจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ และ พะเยา . (แผนกวิชาการศึกษาชนบท ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี , ๒๕๒๖) , หน้า ๑๐ .

ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . จิตวิทยาทั่วไป . ( พิมพ์ครั้งที่ ๔ .โครงการตำรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานส่งเสริมการวิจัยและตำรากองบริการการศึกษา สำนักอธิการบอดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ๒๕๓๘ ) , หน้า ๓๖๒ .

พระยาอนุมานราชธน . การศึกษาวรรณคดีในแง่วรรณศิลป์ .(พิมพ์ครั้งที่ ๒ . กรุงเทพ ฯ : บรรณาคาร , ๒๕๑๘ ), หน้า ๑๐๖ .

กุหลาบ มัลลิกะมาส . ความรู้ทั่วไปทางวรรณคดีไทย . (พิมพ์ครั้งที่ ๗ . กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ๒๕๒๗) ,หน้า ๒๙๓๓.

อรุณีประภา หอมเศรษฐี . การสื่อสารมวลชนเบื้องต้น . (กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ๒๕๒๘ ), หน้า ๒๗๒๘ .

ไม่มีความคิดเห็น: