19 มกราคม 2554

ความรักเพศเดียวกันในทัศนะพระพุทธศาสนา

ความรักเพศเดียวกันในทัศนะพระพุทธศาสนา*

โดย อ. สยาม ราชวัตร**

เมื่อเอ่ยคำว่า “รัก” คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักและไม่เคยผ่านประสบการณ์แห่งรักมาเลยในชีวิตนี้ คำว่า “รัก” เป็นคำกิริยา มีความหมายในเชิงบวกและสร้างสรรค์ รักเป็นอารมณ์ความรู้สึก เป็นกิริยาของจิตของมนุษย์หรือสัตว์โลกทั่วไป รักนั้นมีอยู่ทั้งในตัวมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทุกเพศทุกวัย เมื่อแสดงออกมาภายนอกแล้วเป็นความเอื้ออาทรต่อกันและกัน มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความรัก อย่าว่าแต่มนุษย์เลย สัตว์โลกประเภทอื่นก็เกิดมาพร้อมกับความรักเหมือนกัน มนุษย์ปฏิเสธความรักไม่ได้ ความรักจึงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อเกิดความรักแล้วความสุขก็จะเกิดตามมาด้วย ความรักมีหลากหลายรูปแบบ ล้วนเป็นสิ่งสร้างสรรค์ความสุขให้เกิดขึ้นทั้งนั้น
รูปแบบความรักของมนุษย์ที่เราพบเห็นเป็นปกติในสังคม ก็คือ ความรักระหว่างต่างเพศ คือ ชายรักหญิง หญิงรักชาย เป็นจุดเริ่มต้นของระบบครอบครัว เกิดประเพณีแห่งความรักตามมา เช่น การหมั้น การสู่ขอ การแต่งงาน การมีบุตรสืบสกุล เกิดหน้าที่ของพ่อแม่บุตรธิดา เป็นต้น เป็นระบบวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม เหล่านี้ล้วนมีความรักเป็นที่ตั้ง ที่สังคมยอมรับและยึดถือปฏิบัติเป็นรูปแบบต่อๆ กันมา จุดประสงค์ในการแต่งงานเพื่อมีบุตรสืบสกุลและสร้างระบบครอบครัวที่มั่นคง แต่ในสังคมปัจจุบันรูปแบบความรักเปลี่ยนไป แตกต่างไปจากรูปแบบเดิม เกิดรูปแบบความรักแบบใหม่ขึ้น ซึ่งไม่ใช่แบบชายรักหญิง หรือ หญิงรักชาย เพียงอย่างเดียว นั่นคือ “ความรักระหว่างเพศเดียวกัน” ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น เกย์ กระเทย ทอม ดี้ เป็นต้น รูปแบบความรักใหม่เริ่มมีมากขึ้นในสังคม หลายคู่แสดงออกอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน และอีกหลายคู่ไม่ต้องการเปิดเผยพยายามปกปิดไม่ให้สังคมรับรู้ เป็นปรากฏการณ์จริงในสังคมปัจจุบัน
ความรักระหว่างเพศเดียวกันในสังคมวัฒนธรรมไทย มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย หลากหลายทัศนะในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง ๒ ประเด็นใหญ่ คือ สิทธิเสรีภาพ และ วัฒนธรรมสังคมไทย หลายคนก็อ้างสิทธิเสรีภาพว่าเป็นสิ่งทำได้ เป็นสิทธิของแต่ละคน บังคับกันไม่ได้ ไม่ควรไปกีดกัน ส่วนทัศนะมุมมองทางสังคมวัฒนธรรมไทย ก็อ้างว่าเป็นการไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทยที่ดีงามและที่เคยยึดถือปฏิบัติมาในอดีต การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการทำลายวัฒนธรรมแบบไทย ไปหลงยึดเอารูปแบบปฏิบัติทางวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้เป็นการไม่เหมาะสมในสภาพของสังคมไทย

ถามว่า พระพุทธศาสนามองเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นอย่างไร ? ก่อนอื่นควรพิจารณากว้างๆ ก่อนว่า พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เป็นกลางๆ ที่เรียกว่าการปฏิบัติแบบมัชฌิมาปฏิปทา คือการยึดหลักทางสายกลางไม่สุดโต่งทางใดทางหนึ่ง มองอย่างความเป็นเหตุเป็นผล มองมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาตนเอง เป้าหมายของพระพุทธศาสนาก็คือการเข้าถึงนิพพานดับทุกข์เป็นที่สุด หลักคำสอนมีหลากหลายระดับทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ที่มีเป้าหมายสู่พระนิพพาน เมื่อมองในแง่การบรรลุธรรมหรือในแง่จิตภาพแล้ว มนุษย์ทั้งชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน โอกาสเท่ากันในการพัฒนาตนเองที่จะเข้าถึงบรรลุธรรม นิพพานเป็นจุดหมายที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่จำกัดชาติชั้น หญิงชาย เมื่อบุคคลทุกคน มีฉันทะ เพียรพยายาม ปฏิบัติถูกต้องก็สามารถบรรลุนิพพานได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้นชื่อว่าทิศไม่มีภัย รถชื่อว่ารถไร้เสียง ประกอบด้วยล้อคือธรรมมีหิริเป็นฝา มีสติเป็นเกราะกั้น ธรรมรถนั้น เราบอกให้ มีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เขาย่อมใช้ยานนั้นถึงในสำนักแห่งนิพพาน” หลักฐานจากพุทธพจน์แสดงให้เห็นท่าทีจุดยืนของพระพุทธศาสนาต่อเรื่องชายหญิงในแง่จิตภาพ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโอกาสเท่าเทียมกันในการบรรลุธรรม
เมื่อเมื่อมองประเด็นในแง่วินัยหรือกายภาพ หลายคนอาจมองพระพุทธศาสนาว่าไม่ให้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการบวช มีการจำกัดเรื่องสิทธิของหญิงชาย จำกัดเรื่องเพศ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ต้องเป็นบุรุษสมบูรณ์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ชายที่เรียกว่า “บัณเฑาะว์” และ “อุภโตพยัญชนก” บวชเป็นภิกษุได้ หรือจัดเป็นอภัพพบุคคลแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา และอีกเรื่องพระพุทธศาสนอาจถูกมองว่าจำกัดสิทธิหญิงคือการบวชเป็นภิกษุณี มีข้อกำหนดในการบวชที่เข้มงวดมาก และข้อบัญญัติมากมายในการเป็นภิกษุณี ดูประหนึ่งว่าไม่ต้องการให้ผู้หญิงบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว ประเด็นเหล่านี้เป็นคนละประเด็นกับเรื่องจิตภาพหรือการบรรลุธรรม แต่เป็นเรื่องของกายภาพ การบัญญัติวินัยต่างๆ นั้น ทรงต้องการให้เอื้อต่อการเข้าถึงธรรมมากกว่าที่จะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพแห่งหญิงหรือชาย เมื่อให้กระเทยเข้ามาบวชอยู่ร่วมกันกับหมู่ภิกษุที่เป็นชายอาจเกิดผลเสียหายมากกว่า ส่วนการไม่ต้องการให้หญิงบวชในพุทธศาสนานั้นก็ทรงมองในแง่กายภาพของหญิงมากกว่า โดยธรรมชาติผู้หญิงมีร่างกายบอบบางไม่เหมาะที่ในป่าเขาลำเนาไพรอยู่ตามลำพังและอาจเป็นผลเสียเมื่อหญิงชายอยู่ใกล้กัน จะทำให้เกิดเรื่องที่ไม่ดีไม่งาม เป็นประเด็นที่จะให้ลัทธิอื่นนำไปเป็นข้อกล่าวหาโจมตีพระพุทธศาสนาได้
สำหรับประเด็นความรัก ก็มีหลักสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ความรักในพระพุทธศาสนา แบ่งลักษณะเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ
(๑) ความรักแบบเมตตา เป็นความรักที่เป็นอุดมคติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นความรักที่ไร้ขอบเขต ไม่มีข้อจำกัด ดังข้อความในคัมภีร์พระพุทธศาสนาตอนหนึ่งว่า “…มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่…ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่…” ความรักประเภทนี้ เป็นความรักที่อยากให้เขามีความสุข หรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี รักใครก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไร ๆ เพื่อให้เขามีความสุข หลักสังเกตง่ายๆ เวลารักใครลองถามตัวเองว่า เราต้องการความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข เมื่ออยากให้เขามีความสุข ก็ต้องการทำให้เขามีความสุข หรือทำอะไร ๆ เพื่อให้เขามีความสุข การที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้ การให้เป็นปฏิบัติการที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ดังนั้น ผู้ที่มีความรักแบบที่หนึ่งจึงมีความสุขในการให้และให้ด้วยความสุข การให้จึงกลายเป็นความสุข หลักธรรมที่ส่งเสริมความรักประเภทนี้ พรหมวิหาร ๔ อันประกอบ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แล้วเสริมด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ อันเป็นหลักเกื้อกูลกันและกัน ซึ่งประกอบด้วย ทาน การให้ ปิยวาจา พูดจาไพเราะน่าฟัง อัตถจริยา สร้างบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นและส่วนรวม สมานัตตตา ประพฤติตนสม่ำเสมอเหมาะสมร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน
(๒) ความรักแบบสิเน่หาหรือราคะ เป็นความรักระหว่างเพศ หรือความรักทางเพศ เช่นความรักของหนุ่มสาว มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก เป็นความรักสามัญของปุถุชน ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตนเอง ความรักแบบที่สองนี้ ที่แท้แล้วก็คือการคิดจะเอาจากผู้อื่น ในเมื่อมันมีลักษณะอย่างนี้ มันจึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญ และเมื่อไม่ได้ตามต้องการก็เกิดอาการหงุดหงิดไม่พอใจ นำมาซึ่งความทุกข์กายทุกข์ใจในที่สุด ดังคำที่ได้ยินกันบ่อยว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เป็นการอธิบายความรักแบบประเภทที่สอง เพราะเป็นความรักที่คับแคบ รักแบบยึดติด มุ่งหวังที่จะได้ครอบครองมาเป็นของตนเองอย่างเดียว เมื่อไม่ได้หรือไม่สมหวังก็จะประสบความทุกข์ทันที ความรักประเภทนี้จึงเป็นทุกข์
ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง หากมุ่งหวังในเชิงเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น จัดเข้าในความรักประเภทที่สอง เพราะแฝงด้วยกามตัณหา ราคะ สิเน่หา มีความต้องการทางเนื้อหนังร่างกายเป็นที่ตั้ง มุ่งความสุขทางด้านร่างกายมาตอบสนองตนเอง เพศสัมพันธ์แม้จะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำที่ขัดขวางต่อการเข้าถึงธรรมหรือการดับทุกข์ ถ้าหากยังละไม่ได้และต้องเกี่ยวข้องอยู่ พระพุทธศาสนาก็มีหลักคำสอนเรื่องศีล ๕ เป็นหลักควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมให้แสดงเรื่องของกามหรือความรักระหว่างเพศเป็นไปในทางที่เหมาะสมถูกต้อง นั่นคือให้มี “กามสังวร” คือการสำรวมในกาม ให้มันเป็นไปถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดในคู่รักของคนอื่น เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง การหึงหวง การทะเลาะเบาะแว้ง การประหัตประหารกัน เป็นต้น ที่สืบเนื่องมาจากความรัก
แล้วพระพุทธศาสนามองประเด็นความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นอย่างไร ? ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว พระพุทธศาสนามีลักษณะคำสอนเป็นกลางๆ ให้ใช้สติและปัญญา ให้สิทธิและเสรีภาพทางปัญญาอย่างเต็มที่ในการพิจารณาประเด็นต่างๆ มองสิ่งต่างๆ อย่างมีสติปัญญากำกับ ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสิน แต่ใช้ปัญญาใคร่ครวญให้รอบคอบ หากเราตัดความเป็นหญิงความเป็นชาย ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมออกไปก่อน มองทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นก่อนแล้ว เราก็จะเกิดความเมตตาปรารถนาต่อคนทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนมีการเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกัน ก็จะเกิดกุศลจิต ปรารถนาดีต่อเขา เข้าใจเขาเหล่านั้น และจะมีท่าทีปฏิบัติอย่างเป็นมิตรและสอนเขาอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมเดียวกันอย่างสันติสุข ถ้าเขาเหล่านั้นตัดสินใจแน่นอนแล้วที่จะเป็นอย่างนั้น เราก็ควรจะให้ข้อเสนอแนะตามหลักพระพุทธศาสนาแก่เขา ทั้งนี้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้นำไปพิจารณาและเป็นข้อควรคำนึง เช่น
๑) จะยอมรับได้หรือไม่กับคำนินทาหลากหลายของผู้คนรอบตัวในสังคมที่มีวัฒนธรรมหลักแบบเดิม ซึ่งจะมองพวกเขาว่า การรักเพศเดียวกัน เป็นการผิดธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นการไม่เหมาะสมในสังคมไทย
๒) สถาบันครอบครัวประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก เป็นหลัก หากเขาเหล่านั้นต้องการจะมีลูกไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตามด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลูกที่เกิดมาจะมีฐานะอย่างไร ? และจะอยู่ร่วมในสังคมอย่างไร ?
๓) พึงระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ อันเกิดจากเพศสัมพันธ์ที่ผิดปกติของธรรมชาติที่ควรจะเป็น อย่าลุ่มหลงในเรื่องเพศสัมพันธ์จนเกินไป ให้มองตามหลักพระพุทธศาสนาคือให้มองเพศสัมพันธ์นั่นเป็นเพียงปัจจัยเท่านั้น มิใช่เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ชีวิตควรมุ่งไปสู่ความรักประเภทที่หนึ่งให้มากที่สุด ซึ่งนำพาไปสู่การดับทุกข์ได้
๔) ควรยึดมั่นในหลักสทารสันโดษ นั่นคือยึดมั่นยินดีในคู่ครองของตนเท่านั้น อย่าผิดหรือล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น เพราะนั่นจะเป็นเหตุนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
๕) ให้ทำใจไว้บ้างกับความรัก เพราะความรักเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน มีความเป็นอนิจจังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง หลักอนิจจังสอนให้ไม่ประมาท ไม่หลงมัวเมา เพลิดเพลินจนลืมตัว เรื่องความรักก็เหมือนกัน ที่บอกว่าเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลายลักษณะ เช่น เปลี่ยนจากรักธรรมดา เป็นรักมากก็มี เปลี่ยนจากรัก เป็นไม่รักก็มี เปลี่ยนจากรัก เป็นไม่รัก แล้วกลับมาเป็นรักก็มี การคิดถึง “อนิจจัง” ทำให้เราไม่ต้องเจ็บช้ำ เพราะสิ่งที่เรียกว่าความรักมากเกินไป ผิดหวังหรือสมหวังก็เรื่อยๆ สำหรับเรื่องความรัก
๖) อย่าเป็นตัวอย่างโดยการชักชวนให้คนอื่นมามีพฤติกรรมเป็นอย่างตนเอง ให้ถือว่าเป็นพฤติกรรมเฉพาะตนเองเท่านั้น ให้คำนึงถึงหลักธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยส่วนใหญ่
กล่าวสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนามีทัศนะเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นกลางๆ มองว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมในแง่จิตภาพคือการบรรลุถึงธรรม มนุษย์มีเสรีภาพอย่างเต็มที่แม้ในเรื่องความรักเพศเดียวก็เช่นเดียวกันแต่ก็ต้องมีสติและปัญญากำกับเสมอ ในสภาพวัฒนธรรมของสังคมไทยความรักเพศเดียวกันดูเหมือนเป็นสิ่งไม่เหมาะสม แต่พระพุทธศาสนาก็ให้มองอย่างมีเหตุผลว่ามีพฤติกรรมเข้าในความรักประเภทไหนในสองลักษณะของความรัก คือ เป็นความรักแบบเมตตาหรือไม่ หรือเป็นความรักแบบสิเน่หา หากมีความปรารถนาดีต่อกันและกัน เป็นเพื่อนช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นที่ตั้ง ก็จัดเข้าได้ในความรักแบบเมตตา แต่ถ้ามุ่งต้องการเรื่องเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แสวงหาความสุขความพอใจทางเนื้อหนังร่างกาย ยึดความสุขของตนเองเป็นที่ตั้งแล้ว จัดเข้าในความรักแบบเสน่หา ซึ่งความรักประเภทนี้จะนำมาซึ่งความทุกข์ในที่สุดแน่นอน พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มนุษย์พึงระวังกับความรักเช่นนี้ มีหลักคำสอนเรื่องเช่นหลักกามสังวร ให้ควบคุมพฤติกรรมความรักเป็นไปในทางที่ถูกต้อง เมื่อเขาเหล่านั้นเลือกยินดีที่จะมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันแล้ว ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ก็ควรคำนึงถึงผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาภายหลังด้วยเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในคู่ครอง พระพุทธศาสนาให้ยึดหลักสทารสันโดษยินดีในคู่ครองของตนเองเท่านั้น และสอนเรื่องหลักอนิจจัง คือสิ่งต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงเสมอตามเหตุปัจจัย เพื่อป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดในเรื่องความรัก และควรพัฒนาตนเองไปสู่ความรักแบบเมตตาให้ได้ ซึ่งเป็นความรักที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: